บ้านคอนกรีต ที่ได้แรงบันดาลใจจาก “ต้นไม้”
แนวคิดการออกแบบ บ้านคอนกรีต หลังนี้ได้แรงบันดาลใจจาก “ต้นไม้” เพราะพื้นที่ตรงนี้มีต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มขึ้นเต็มไปหมด สถาปนิกจึงเลือกเก็บต้นไม้ไว้ให้มากที่สุด มองจากภายนอก บ้านมีลักษณะเหมือนกล่องสีขาววางเหลื่อมกันเป็นรูปตัวแอล (L) กล่องที่อยู่ด้านบนตั้งใจออกแบบให้ดูเบาลอย โดยยื่นโครงสร้างออกมาจากแนวเสาและคาน ส่วนชั้นล่างใช้กระจกเป็นส่วนประกอบหลัก จึงให้ความรู้สึกเหมือนกล่องสีขาวเรียบนี้ลอยอยู่ท่ามกลางฉากหลังสีเขียวสด
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Plankrich
ปฏิเสธไม่ได้ว่านับวันภายในตัวเมืองเชียงใหม่จะมีบรรยากาศเข้าสู่ความเป็น “เมือง” เข้าไปทุกที ทั้งสภาพการจราจรที่ติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ร้านกาแฟที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด รวมถึงความแออัดของบ้านเรือน ด้วยเหตุนี้ คุณกิฟท์ – สิริวัฒน์ เสริบุตร วิศวกรพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และคุณแพร – นรรธพร เสริบุตร ผู้จัดการมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว จึงเลือกที่จะสร้างบ้านของพวกเขาในทำเลที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของเมือง หากยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยพื้นที่ที่พวกเขาเลือกคือหมู่บ้านสวนนนทรีย์ซึ่งอยู่เลยจากสี่แยกที่มุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไม่ไกลนักในเขตอำเภอสันทราย ท่ามกลางบรรยากาศที่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นอยู่อุดมสมบูรณ์
ก่อนจะย้ายมาลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ คุณกิฟท์และคุณแพรเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและได้พบรักกันที่นั่น จนเมื่อความรักสุกงอมทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน ณ ดินแดนแห่งนี้เป็นเวลา 2 ปี
“ที่จริงผมไม่ใช่คนเชียงใหม่หรอกครับ แต่ผมยอมย้ายจากกรุงเทพฯมาอยู่และทำงานที่นี่ก็เพื่อครอบครัว เพราะบ้านคุณแพรอยู่ที่เชียงใหม่” คุณกิฟท์เริ่มต้นบทสนทนาก่อนจะหันไปยิ้มให้ภรรยาคนสวยที่นั่งข้างๆ
สองสามีภรรยามอบหมายให้บริษัทแผลงฤทธิ์ จำกัด มาเป็นทั้งผู้ออกแบบและก่อสร้าง โดยแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของบ้านได้แรงบันดาลใจจาก “ต้นไม้” เพราะพื้นที่ตรงนี้มีต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มขึ้นเต็มไปหมด สถาปนิกจึงเลือกเก็บต้นไม้ไว้ให้มากที่สุด บางต้นที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในตำแหน่งกลางที่ดินก็เว้นระยะตัวบ้านไว้เพื่อทำช่องให้ต้นไม้ได้เติบโตต่อไป
โครงสร้างเป็น บ้านคอนกรีต เสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาวเป็นหลักสลับกับผนังบางส่วนที่ทำผิวขัดมันเป็นลวดลายเลียนแบบลำต้นและกิ่งไม้ที่อยู่รอบบ้าน สร้างลูกเล่นให้ตัวบ้านแบบไม่มากไปไม่น้อยไป มองจากภายนอก บ้านมีลักษณะเหมือนกล่องสีขาววางเหลื่อมกันเป็นรูปตัวแอล (L) กล่องที่อยู่ด้านบนตั้งใจออกแบบให้ดูเบาลอย โดยยื่นโครงสร้างออกมาจากแนวเสาและคาน ส่วนชั้นล่างใช้กระจกเป็นส่วนประกอบหลัก จึงให้ความรู้สึกเหมือนกล่องสีขาวเรียบนี้ลอยอยู่ท่ามกลางฉากหลังสีเขียวสด เมื่อแสงแดดส่องกระทบก็ช่วยสร้างมิติให้ตัวบ้าน เปลือกอาคารด้านทิศใต้สถาปนิกออกแบบทำครีบคอนกรีตทาสีเดียวกับตัวอาคารช่วยบังแสงแดดได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ไม่บดบังทัศนียภาพที่ดีด้วย
หันมาดูเรื่องการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านบ้าง คุณกิฟท์เล่าว่า “ตอนนั่งดูแบบกัน เราให้ความสำคัญกับการใช้งาน ขนาด และประโยชน์ใช้สอย ดูว่าพื้นที่ตรงไหนน่าจะเป็นพื้นที่สีแดง (มีการใช้งานสูง) ก็ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ พื้นที่ไหนสีส้ม (มีการใช้งานปานกลาง) หรือสีเหลือง (มีการใช้งานน้อย) ขนาดก็จะแปรผันไปตามความหนาแน่นของการใช้งาน เช่น ห้องรับประทานอาหารจะมีการใช้งานมาก เราจึงให้พื้นที่ส่วนนี้มีขนาดใหญ่หน่อย แถมพื้นที่ส่วนระเบียงไม้ให้ด้วย เวลามีญาติหรือเพื่อนๆมาที่บ้าน ห้องนี้จะได้ไม่อึดอัดนัก”
สำหรับการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ชั้นล่างประกอบด้วยที่จอดรถ โถงทางเข้า ห้องรับประทานอาหาร ระเบียงไม้ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนอนแขก และห้องน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนทั้งหมด มีทั้งของพ่อแม่ เจ้าตัวเล็ก และสำรองไว้อีกสองห้อง คุณแพรบอกกับผมว่า “บ้านต้องโตไปกับเรา เลยเลือกที่จะทำห้องเผื่อลูกโตและใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนไปตามชีวิตของคนอยู่อาศัย”
เสียงลูกชายวัย 3 ขวบดังขึ้นเรียกหาผู้เป็นพ่อ เป็นสัญญาณบอกว่าเจ้าตัวเล็กตื่นแล้ว ไม่นานนักผมก็เห็นภาพพ่อเดินจูงมือลูกชายลงบันไดที่ยื่นออกมาจากผนังตามสไตล์บ้านโมเดิร์น น้องเจเด้น – ใจเด่น เสริบุตร ทำหน้าแปลกใจเล็กน้อยเมื่อเห็นผมและทีมงาน
คุณแพรส่งยิ้มละมุนให้ลูกชายตัวน้อยก่อนจะหันมาพูดกับผมว่า “เราเลี้ยงลูกแบบอิสระคล้ายๆฝรั่งผสมแบบไทย ตอนนี้แยกห้องนอน แต่มีประตูเปิดเชื่อมกับห้องเราได้ตลอดเวลา ภายในห้องนอนของเขาไม่อยากให้ดูเป็นห้องของเด็กมากนัก ไม่ต้องใช้สีลูกกวาดทั้งห้อง เพราะเมื่อเขาโตก็คงอยากจะตกแต่งห้องในแบบของเขาเอง”
ภาพของพ่อและแม่ที่มองลูกน้อยวัยกำลังซนวิ่งไปทั่วห้องรับประทานอาหารและบ่อน้ำคอนกรีตทำผิวขัดมันที่อยู่ติดกับระเบียงไม้ด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยความรักนั้น ทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของหลายคนที่มักบอกว่าการมีลูกเล็กๆเปรียบเสมือน “ห่วง” ที่ทำให้ชีวิตวัยหนุ่มสาวหายไป แต่จากภาพที่เห็นผมว่าคงไม่จริงเสมอไป การมีสมาชิกเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นการช่วยเติมเต็มความรักของคนสองคนให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นต่างหาก
จริงอยู่ว่าบ้านที่แข็งแรงต้องเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่หากมองด้วยหัวใจ ไม่ว่าบ้านจะมีหน้าตาอย่างไร สร้างด้วยช่างที่ชำนาญหรือออกแบบดีแค่ไหน ก็สู้บ้านที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมรักไม่ได้เลยสักนิดเดียว
ออกแบบ : บริษัทแผลงฤทธิ์ จำกัด โดยคุณมานพ นิลสนธิ
เจ้าของ : คุณสิริวัฒน์ – คุณนรรธพร เสริบุตร
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข