17 วิธีเปลี่ยนบ้านจัดสรรให้สวยโดนใจและใช้งานได้ดี
บ้านจัดสรร คือทางออกของใครหลายคนที่ต้องการลดความยุ่งยากในขั้นตอนที่กว่าจะได้บ้านสักหลัง เพราะโครงการจัดสรรเหล่านี้ตั้งอยู่ในทำเลที่เราคงไม่สามารถหาเองได้ง่าย อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน บ้านประเภทนี้จึงมักเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่คนจะนึกถึงเมื่ออยากมี “บ้านหลังแรก” ไอเดียแต่งบ้านจัดสรร
อย่างไรก็ตามการออกแบบที่ต้องใช้ระบบอุตสาหกรรมในการทำองค์ประกอบของบ้านซ้ำๆกันเพื่อช่วยลดต้นทุน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่บ้านเหล่านี้จะมีรูปแบบและหน้าตาเหมือนกันไปหมดทั้งโครงการ ไอเดียแต่งบ้านจัดสรร
เราจึงอยากชวนคุณมาร่วมค้นหาคำตอบกันว่า จะตกแต่งบ้านจัดสรรอย่างไรให้ออกมาสวยงาม ดูแตกต่าง เหมาะกับการใช้งาน และลงตัวกับชีวิตของเรามากขึ้น 17 วิธีปรับปรุงบ้านที่เรานำมาแนะนำใน “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้ เป็นวิธีง่ายๆที่ให้ผลลัพธ์ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ พื้น ผนัง เพดาน ไปจนพื้นที่นอกบ้าน ให้คุณได้ค่อยๆปรับปรุงไปทีละเล็กทีละน้อย โดยจะเลือกทำข้อไหนก่อนก็ได้ รู้ตัวอีกทีบ้านของคุณอาจสวยและมีเอกลักษณ์อย่างที่คาดไม่ถึงเลยล่ะ
ผนัง
1. เปลี่ยนเพื่อเปิด
บ้านจัดสรรทั่วไปนิยมใช้หน้าต่างและประตูขนาดมาตรฐาน วัสดุยอดฮิตมีตั้งแต่ไม้ ซึ่งแหล่งขายอยู่ในย่านบางโพ กรุงเทพฯ และอีกที่ที่แนะนำคือ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยูพีวีซีหรือไวนิล เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน เก็บเสียงได้ดี หาซื้อได้ง่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างใหญ่ๆทั่วไป วัสดุอะลูมิเนียม ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี หาซื้อง่ายเช่นกัน และแบบกระจก ซึ่งต้องสั่งทำ มีให้เลือกทั้งกระจกใส กระจกสี กระจกลามิเนต และกระจกอบความร้อน ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะเนื้อกระจกมีความแข็งแรง รวมไปถึงเหล็กที่สามารถสั่งตัดตามขนาดได้
ขนาดของหน้าต่างและประตูมีตั้งแต่ ความกว้าง 100 เซนติเมตร 120 เซนติเมตร 180 เซนติเมตร 200 เซนติเมตร และ240 เซนติเมตร โดยการปรับพื้นที่ด้านหน้าให้เชื่อมต่อกับโรงรถ อาจเป็นประตูทึบบานเดียว ให้เป็นประตูแบบเปิดโล่งเพื่อให้บ้านเชื่อมต่อกับพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ได้ ที่นิยมและสะดวกคือบานยูพีวีซี ซึ่งสามารถสั่งทำตามขนาดห้องหรือเลือกแบบสำเร็จรูปได้เพื่อความรวดเร็ว โดยมีให้เลือกทั้งแบบประตูบานเลื่อนสลับ บานเลื่อนสี่ขา หรือบานเลื่อนหกขา หรือเติมบานปิดตายสำหรับป็นช่องแสงด้านบน
2. บิดแล้วสะดวก
การปรับเปลี่ยนเพียงนิดหน่อยอาจทำให้เราใช้งานได้สะดวกขึ้น เช่น ลูกบิดทรงกลมแบบมาตรฐานทั่วไป ราคาประหยัด หาซื้อง่าย แต่หากคุณเป็นสายช็อปที่ชอบถือข้าวของพะรุงพะรัง การใช้มือจับแบบก้านโยกน่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น ถึงมือไม่ว่าง แต่ข้อศอกยังอยู่ สามารถใช้ศอกกดเพื่อเลื่อนเปิดประตูได้ในยามฉุกเฉิน
3. ผนังตามอารมณ์
ถ้าเบื่อผนังสีขาวแบบเดิมๆ เติมสีสันให้ห้องด้วยการเปลี่ยนสีสร้างลวดลายให้ผนัง ซึ่งหากมีความสามารถเชิงช่างและมีใจรักงานศิลปะก็สามารถทำเองได้ หรือใช้ความสวยงามของวัสดุแทนสีสัน เช่น อิฐโชว์แนวโทนสีส้มตัดสลับกับผนังสีสด ก็ทำให้มุมเดิมๆของบ้านดูแปลกตาได้เช่นกัน
4. กั้นพื้นที่ให้เกิดทางสัญจร
ลืมกฎบางอย่างบ้าง เช่น หัวเตียงต้องอยู่ชิดผนัง ลองจัดวางผังเตียงใหม่ให้อยู่ถัดออกมาจากผนัง เว้นระยะห่างประมาณ 1-1.20 เมตร แล้ววางโต๊ะทำงานด้านหลังเตียงหรือเป็นโต๊ะแต่งตัวเล็กๆ ก็ทำให้พื้นที่แบบเดิมๆดูเปลี่ยนไป
5. กั้นพื้นที่แบบเบาๆ แต่การใช้งานเป็นเลิศ
การกั้นพื้นที่ด้วยพาร์ทิชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออกแบบให้มีระยะที่พอดี มีระยะช่องเก็บของที่สวยงามเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่อยากง้อช่าง ลองซื้อตู้สำเร็จรูปมาประกอบร่างดู โดยให้ตู้ล่างเป็นตู้ทึบแบบมีบานปิดสำหรับเก็บของได้ แล้วใช้กล่องเก็บของมาวางซ้อนต่อกัน ก็กั้นพื้นที่และเก็บของได้ในตัว ลองเปลี่ยนขนาดของกล่องตามการใช้งาน เช่น หากอยากเก็บของที่มีความสูงหรือจัดวางแจกัน ให้เลือกกล่องทรงสูงมาสลับ แล้วจัดวางองค์ประกอบให้ดี ก็ได้พาร์ทิชั่นสวยๆที่เลือกการใช้งานได้เองแล้ว
6. ปรับบ้านให้โล่งด้วยผังเปิด
การรื้อผนังทึบออก แล้วเปลี่ยนมาติดผนังกระจกแทน หรืออาจแค่ใช้วิธีกั้นห้องเพิ่มด้วยการใช้บานประตูแคบๆอย่างบานเฟี้ยม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถจัดการกับพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วนมากขึ้น ทั้งยังทำให้บ้านดูกว้างขึ้นด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทำงานอยู่กับบ้าน
7. จัดมุมงานช่าง
มุมทำงานช่างในบ้านเลือกใช้เครื่องมือช่างที่ใช้งานได้กับทั้งบ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และจักรยาน ให้กลิ่นอายของสไตล์ลอฟต์และอินดัสเทรียล นอกจากจะสร้างเรื่องราวให้บ้านมากขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องมือและเป็นพื้นที่สำหรับดูแลรักษาหรือซ่อมแซมสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แต่หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอก็อาจประยุกต์พื้นที่ว่างบนผนังทำเป็นชุดผนังเก็บอุปกรณ์ตามพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ข้างโรงรถ หรือพื้นที่เปล่าๆใต้บันไดก็ยังได้
พื้น
8. เปลี่ยนพื้น เปลี่ยนอารมณ์
นอกจากผนังและหลังคาแล้ว องค์ประกอบหนึ่งซึ่งกินบริเวณในบ้านของเรามากเป็นพิเศษก็คือพื้นด้วยวัสดุที่โครงการจัดสรรเลือกมาให้ก็อาจไม่ตรงกับใจที่เราอยากจะให้บ้านในฝันของเราเป็นได้ ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศให้บ้าน การเปลี่ยนวัสดุปูพื้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลได้เด่นชัดที่สุด เช่น กระเบื้องดินเผาช่วยเพิ่มความอบอุ่นและดูเป็นกันเอง ด้วยสีสันและรูปทรงที่ต่างกันเล็กน้อย แต่ให้กลิ่นอายงานคราฟต์ หรือจะเป็นกระเบื้องลายสวยๆที่สร้างเรื่องราวให้พื้นที่ที่ออกแบบไว้ และนอกจากนี้ยังมีวัสดุอย่างพื้นปูนขัดมัน หรือการเคลือบพื้นด้วยอีพ็อกซี่ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ
ในทางกลับกันวัสดุปูพื้นอย่างไม้ปาร์เกต์หรือกระเบื้องยางลายธรรมชาติต่างๆก็ให้บรรยากาศอบอุ่นน่าสัมผัส (ด้วยเท้า) ได้อย่างดีเช่นกัน
เพดาน
9. ลดระดับเพิ่มแสงสวย
ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่การลดระดับฝ้าเพดานยังช่วยให้ใช้งานห้องได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น ในห้องนอนที่ต้องการแสงไฟแบบทั่วทั้งห้อง หากเพิ่มการปรับความสว่างของแสงไฟและเลือกใช้ไฟแบบเฉพาะจุดเพิ่มด้วย ก็จะทำให้ห้องมีการใช้งานที่ปลอดภัยท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ฝ้าหลุมมีทั้งแบบลดระดับฝ้าและสูงขึ้นไปกว่าฝ้าปกติ ระดับความสูงของหลืบฝ้าไม่ควรน้อยกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อช่วยบังหลอดไฟและสามารถเปลี่ยนหลอดได้สะดวก
10. เคาน์เตอร์อเนกประสงค์
แน่นอนว่าเคาน์เตอร์ครัวสมัยนี้ต้องมีไอส์แลนด์ไว้เพิ่มการใช้งาน เพื่อให้ลูกๆได้นั่งรับประทานอาหารเช้า หรือมีเพื่อนมานั่งจิบไวน์พูดคุยเบาๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือขนาดของเคาน์เตอร์ที่ต้องปรับไปตามการใช้งาน หากใช้งานครัวทำขนมหรืออาหารเป็นหลัก ความกว้างของเคาน์เตอร์ที่ใช้งานสะดวกอยู่ที่ 80-85 เซนติเมตร ความสูง1.10 เซนติเมตร อย่าลืมเว้นระยะกันเตะด้านล่างเคาน์เตอร์ เพื่อความปลอดภัยด้วย
นอกบ้าน
11. คุ้มแดดคุ้มฝนด้วยกันสาดและชายคา
ประเทศไทยมีแสงแดดและฝนเยอะ ช่องเปิดต่างๆ เช่น ประตูหน้าต่างจึงมักถูกปิดเอาไว้หรือไม่ก็มีม่านบังแดด น่าเสียดายหากมีสวนสวยๆหรือวิวดีๆที่ต้องอดมองไป มากกว่านั้นคือการที่ช่องเปิดต่างๆ ไม่เปิดระบายอากาศได้
ลองทำกันสาดคุ้มแดดคุ้มฝนให้ช่องประตูหน้าต่าง เท่านี้เราก็ไม่ต้องกลัวแดดกลัวฝน สามารถใช้งานช่องเปิดเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ จะให้ดีก็ลองเลือกรูปแบบกันสาดตามสไตล์ที่ชอบไปเลย เช่น โครงอะลูมิเนียมบางๆกับอะคริลิกกรองแสงสำหรับบ้านโมเดิร์น หรือจะเติมไม้ระแนงให้ดูอบอุ่นแบบบ้านไม้เพิ่มขึ้นก็เข้าที
12. ทำพื้นที่รอบบ้านให้น่าใช้งานด้วยแผ่นทางเดิน
ส่วนใหญ่แล้วข้างบ้านจัดสรรจะมีพื้นที่อยู่โดยรอบ อาจกว้างตั้งแต่ 1.50 – 2 เมตร จะเทปูนก็น่าเสียดาย แต่จะปูหญ้าหมดก็คงอยู่ได้ไม่ได้ ลองแบ่งพื้นที่หญ้าและวางแผ่นทางเดินแค่พอเดินได้และเว้นพื้นที่ไว้ให้หญ้าขึ้นได้บ้าง แผ่นทางเดินสมัยนี้ก็มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นคอนกรีต ไม้เทียม หรือจะเป็นแผ่นคาร์เป็ตสโตนก็ดูดี แต่ถ้าหากต้องการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ก็อาจทำยกพื้นด้วยเหล็กกล่องเพื่อแยกพื้นออกจากแนวดิน หากข้างบ้านมีประตูบานเลื่อนก็นั่งเล่นหย่อนขาได้อีกด้วย และสำหรับปัญหาหญ้าขึ้นรกนั้น วิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นจนรกมาบดบังทางเดินก็คือการโรยกรวดหรือหินก้อนเล็กๆเอาไว้ เพียงเท่านี้ทางเดินก็จะดูเรียบร้อยน่าเดินแม้ในวันที่หญ้าขึ้นสูง
13. สวนสวยได้ด้วยพื้นที่ไม่มาก
เมื่อมีทางเดินข้างบ้านแล้ว เราลองจัดสวนสวยๆไว้ข้างบ้านกันดีกว่า ปกติแล้วการจัดสวนต้องมีพื้นที่พอประมาณ แต่หากมองว่ารั้วของเราสามารถเป็นพื้นที่สีเขียวได้ การทำสวนกระถาง สวนแขวน หรือการปลูกไม้เลื้อย ก็สามารถสร้างวิวดีๆที่ทำให้พื้นที่ในบ้านมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก สามารถมองจากหน้าต่างห้องรับแขกหรือห้องกินข้าวได้เลยทีเดียว หรืออาจวางม้านั่งเล็กๆไว้เป็นมุมพักผ่อนก็ยังได้
14. เติมสีเขียวให้อาคารด้วยไม้เลื้อย
นอกจากการทำสวนในที่แคบแล้ว การสร้าง “พื้นผิวสีเขียว” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรมชาติให้ตัวอาคารในงบประมาณที่ไม่แพง แต่อาจต้องการการดูแลสักเล็กน้อย การเลือกใช้ไม้เลื้อยนั้นสามารถประยุกต์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะปล่อยให้เกาะไปตามผนัง หรือไต่ไปตามโครงที่กำหนดไว้ และบางครั้งอาจกำหนดให้ไม้เลื้อยห้อยลงมาจากด้านบนก็ยังได้ เช่น จากพื้นที่สำหรับวางคอมเพรซเซอร์ที่ชั้นสองนำมาใช้เป็นพื้นที่ปลูกกระถางไม้เลื้อยที่ปล่อยให้ห้อยย้อยลงไปช่วยบังแดดให้ห้องที่ชั้นล่าง ได้ทั้งความสบายและทัศนียภาพดีๆไปพร้อมกัน
15. รั้วบ้านเป็นมิตร ไม่ทึบตัน
สร้างความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอกให้ผู้อยู่ในบ้านไม่รู้สึกอึดอัด ด้วยการทำแนวรั้วบ้านด้วยต้นไม้อย่างโมก ข่อย หรือคริสตินา นอกจากจะช่วยลดความแข็งกระด้างของรั้วปูนทึบๆด้วยการที่รั้วแบบนี้สามารถเห็นภายนอกรั้วบ้านได้โดยสะดวก การใช้ต้นไม้ผสมกับโครงสร้างของรั้วเดิมก็เป็นวิธีการที่น่าสนใจหากต้องการความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้นสำหรับรั้วเดิมที่สูงอยู่แล้วแต่ยังไม่พอ เช่น การต่อโครงเพื่อปลูกไม้เลื้อยให้สูงขึ้นไปจากแนวรั้วเดิมเพื่อบดบังมุมมองสายตาจากชั้นสองบ้านข้างๆ หรือจะลดความสูงของรั้วปูนเดิมลงแล้วปลูกต้นไม้สลับบ้าง ก็จะลดความทึบทึมของบ้านลงได้อย่างมาก
16. ชานบ้านน่านั่ง
บ้านที่มีสนามหญ้าหน้าบ้าน (หรือหลังบ้าน) หากคิดว่าทิ้งไว้เปล่าๆไม่ได้ใช้งาน อาจลองทำยกพื้นเป็นชานบ้านขึ้นมาก็ได้ จะมีชายคาหรือไม่มีก็ล้วนเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ทั้งยังทำให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือจะใช้เป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจหรือจะเป็นพื้นที่รับแขกก็ยังได้
17. ศาลาน้อยกลางสวน
อะไรจะดีไปกว่าการได้มีพื้นที่พักผ่อนท่ามกลางสวนสวยๆในบ้านของเราเอง จะลองทำศาลาตามแบบศาลาจากหนังสือในเครือบ้านและสวน หรือจะเป็นศาลาง่ายๆที่มีให้เลือกซื้อมากมาย พร้อมยกไปวางได้ทันที มากกว่านั้นถ้าหากคุณเป็นผู้ที่มีใจรักในการปลูกต้นไม้แล้วล่ะก็ ลองเปลี่ยนจากศาลาให้กลายเป็นเรือนกระจกสำหรับดูแลรักษาต้นไม้และเพาะกล้า ก็คงช่วยเสริมความสุขให้ส่วนอื่นๆของบ้านได้อีกด้วย ทั้งยังเป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการทำสวนได้ไปในตัวฃ
อ่านต่อ : 5 บ้านจัดสรร ตกแต่งให้เป็นบ้านจัดสวย
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”, “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ข้อมูล : หนังสือ “ช่างประจำบ้าน” โดยคุณศักดา ประสานไทย และ หนังสือ “99 เรื่องต้องรู้ก่อนมีบ้าน” โดย คุณวิญญู วานิชศิริโรจน์