ภาชนะแบบไหน เข้าไมโครเวฟได้บ้างนะ?
เคยสงสัยกันไหมว่า ภาชนะเข้าไมโครเวฟได้ มีแบบไหนกันแน่ ชามใบนี้มันเข้าไมโครเวฟได้ไหมนะ แล้วกล่องพลาสติกพวกนี้อีกล่ะ ชามแบบนั้น ถ้วยใบนี้ แล้วหม้อนั้นอีกล่ะ โอ๊ยยย เยอะ !!
เก็บเครื่องหมายคำถามที่ผุดขึ้นมาอยู่เต็มไปหมดลงกระเป๋าไปก่อน แล้วหันมาตั้งใจฟัง บ้านและสวน จะบอกให้ว่า ภาชนะเข้าไมโครเวฟได้ มีแบบไหนบ้าง
เริ่มที่ภาชนะกลุ่มแรกกัน เป็นภาชนะที่เราสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยแน่นอน เหมาะสำหรับความหิวระดับสิบ!! น้ำย่อยสั่งการให้สมองหยิบชามโดยด่วน!! ขอให้หยิบจานชามในกลุ่มนี้เข้าไมโครเวฟได้เลย
เซรามิก
เป็นภาชนะที่สามารถใช้กับไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยหายห่วง จะอุ่นอาหารก็ได้ ปรุงอาหารก็ดี ถึงเนื้อของเซรามิกจะแตกต่างกันออกไปก็ไม่เป็นผลต่อการใช้งานกับไมโครเวฟมากนัก ยกตัวอย่างเช่นเซรามิกกลุ่ม Earthware นั้นอาจจะใช้เวลาในการอุ่นอาหารให้ร้อนนานกว่ากลุ่ม Stoneware และ Bone China อยู่สักหน่อย เพราะภาชนะกลุ่ม Earthware มีเนื้อดินที่มีความพรุนตัวมากจึงทำให้ความสามารถในการดูดน้ำสูง เลยต้องใช้เวลากันสักหน่อยกว่าอาหารในภาชนะนั้นจะสุก
ข้อควรระวังของภาชนะในกลุ่มเซรามิกนั้นพอมีอยู่บ้าง ก็คือต้องเป็นภาชนะที่ไม่ตกแต่งลวดลายสีเงิน หรือ สีทองนะคะ เพราะสีเหล่านี้สามารถสะท้อนคลื่นไมโครเวฟได้ ทำให้อุปกรณ์ภายในของไมโครเวฟเกิดความเสียหายได้
แก้ว
นอกจากกลุ่มภาชนะที่ทำจากเซรามิกแล้วก็มี แก้วนี้แหละที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้อย่างสบายใจ เพราะองค์ประกอบสำคัญของแก้วคือ สารอนินทรีย์อย่าง ทราย และเจ้าทรายนี้ ก็มีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อนได้สูงมาก แถมผิวเงาๆมันๆของแก้ว ก็ยังไม่สะท้อนคลื่นไมโครเวฟอีกด้วย
มาต่อกันที่กลุ่มที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ แต่ต้องให้ความใส่ใจสักหน่อย เป็นกลุ่มภาชนะที่เหมาะสำหรับการหิวในระดับกลาง แบบที่น้ำย่อยยังไม่สร้างความเสียหายต่อการตัดสินใจและอารมณ์มากนัก ภาชนะกลุ่มนี้จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
พลาสติก
กล่องใส่อาหารพร้อมทานส่วนมาก ก็มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหมือนกันหมดเลย แต่พลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ จะต้องเป็นพลาสติกประเภท Polyethylene terephthalate (PET) และ พลาสติกประเภท Polypropylene (PP) เท่านั้น เพราะทั้งสองประเภทนี้มีความเหนียว และยืดหยุ่น จึงทนต่อแรงกดกระแทกได้ค่อยข้างสูง หรือลองพลิกด้านดูบริเวณก้นของภาชนะพลาสติก จะมีสัญลักษณ์บอกไว้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรใช้เพียงเพื่ออุ่นอาหาร ไม่ควรนำไปปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง
กระดาษ
ภาชนะในกลุ่มกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษเคลือบแว็กซ์ หรือ กระดาษเคลือบพลาสติก ตัวอย่างพวกถ้วยกระดาษที่มักจะใส่อาหารพร้อมทาน สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ แต่ข้อจำกัดของภาชนะกระดาษเคลือบเหล่านี้ก็ยังคงทำได้แค่อุ่นเบาๆ ข้อควรระวังอีกอย่างสำหรับภาชนะในกลุ่มกระดาษก็คือรอยหมึกที่พิมพ์มาบนผิวของภาชนะ เมื่อหมึกพิมพ์เหล่านี้โดยความร้อนอาจจะระเหยปนเปื้อนไปกับอาหารได้ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากระดาษไวต่อการเกิดประกายไฟมาก เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้เปลี่ยนภาชนะก่อนจะอุ่นอาหารด้วยความร้อนสูงจะดีกว่า
กลุ่มสุดท้ายเป็นภาชนะกลุ่มที่ไม่ถูกกับไมโครเวฟเอามากๆ ห้ามนำเข้าไปโดยเด็ดขาด แค่อุ่นเบาๆก็ไม่ควร
โลหะ
นอกจากลิ้นกับฟันแล้ว โลหะกับไมโครเวฟก็ไม่ถูกกัน พบกันทีไรก็เรื่องใหญ่แน่นอนจ้า ภาชนะที่เป็นโลหะหรือมีส่วนผสมของโลหะ ไม่ว่าจะเยอะหรือจะน้อยขนาดไหน ก็ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟ เพราะโลหะเหล่านี้เมื่อได้รับคลื่นไมโครเวฟและความร้อนแล้วนั้น จะทำให้เกิดเป็นประกายไฟ เหมือนมีคนไปจุดพลุอยู่ในไมโครเวฟ แล้วพลุดอกเล็กๆเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้เลย !! อันตรายเป็นอย่างมาก
เช็คก่อนใช้ ! งานบ้านแบบไหนห้ามใช้น้ำส้มสายชูบ้าง
ทำความสะอาดกระจกในห้องน้ำอย่างไรให้สะอาดใสไร้คราบฝังแน่น
7 วิธีซักผ้าขาว เคล็ดลับการคืนชีวิตให้ผ้าขาว กลับมาขาวจั๊วะเหมือนใหม่