เกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถปรับใช้ที่ดินได้ตามความเหมาะสม หมุนเวียนทรัพยากรอย่างพึ่งพากันในรูปแบบเกษตรผสมผสาน มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย มีแหล่งอาหารโดยไม่ต้องหาซื้อเกินจำเป็น เมื่อบริหารพื้นที่ได้สมดุล ก็สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ไม่ยาก เป็นหนึ่งในแนวทางสู่ความยั่งยืน
ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านไปทำเกษตรกันมากขึ้น ไม่ว่าการตัดสินใจหวนกลับบ้านไปสู่ภาคเกษตรจะเริ่มต้นด้วยเหตุผลใด แต่เป้าหมายที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คาดหวังถึงความสำเร็จ แต่แค่นั้นยังไม่พอ การทำเกษตรเป็นอาชีพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลเพื่อหาวิธีอยู่รอดบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ตอบโจทย์ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจด้วย
วันนี้ขอนำข้อคิดจาก รองศาสตราจารย์บำเพ็ญ เขียวหวาน สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นที่ปรึกษาร่วมลงพื้นที่ทำงานสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่กับเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาบอกเล่า โดยเฉพาะเรื่องของ การจัดสรรพื้นที่ตามโมเดลเกษตรทฤษฎีใหม่
“เกษตรกรยุคนี้ต้องเผชิญกับปัญหาร้อยแปด จึงจำเป็นต้องปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกพื้นที่และทุกสถานการณ์ นั่นคือ เกษตรทฤษฎีใหม่”
ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 หมายถึง
พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระน้ำ เพื่อใช้กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ
พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าว เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับครอบครัวได้เพียงพอตลอดปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากบริโภคก็นำไปจำหน่าย สร้างรายได้
พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่าง ๆ
“เกษตรทฤษฎีใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้สูงสูด เน้นการจัดการน้ำและดินให้มีเพียงพอ ปลูกพืช ไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี ปลูกป่าไว้ใช้เป็นแหล่งพลังงาน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อสร้างความหลากหลาย เป็นความมั่นคงทางอาหาร หมุนเวียนทรัพยากรอย่างพึ่งพากันในรูปแบบเกษตรผสมผสาน ให้เห็นถึงความหลากหลายของกิจกรรมในฟาร์ม เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสู่ความยั่งยืน”
// ปรับพื้นที่ในฟาร์มโดยคิดเรื่องการจัดการน้ำก่อน แล้วจัดการดิน จัดการการใช้ที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับระบบเกษตรยั่งยืน ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยวหรือการปลูกพืชเป็นเกษตรอุตสาหกรรม //
“เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกนิเวศ แต่คุณต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปออกแบบด้วยตัวเองว่าเหมาะสมกับพื้นที่ของคุณหรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องดิน น้ำ พื้นที่ทำกิน จะคัดลอกทั้งพิมพ์เขียวไปทำเหมือนสร้างบ้านเลยไม่ได้ คุณต้องวิเคราะห์ก่อนลงมือทำ”
อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.13 กลับบ้านไปทำเกษตร โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน