ฟาร์มลุงรีย์ เผยเคล็ดลับเพาะ เห็ดมิลกี้ Milky Mushroom
ฟาร์มลุงรีย์ Uncleree Farm ย่านเพชรเกษม 48 โดยชารีย์ บุญญวินิจ มาร่วมแบ่งปันและบูรณาการความรู้การทำเกษตร เผยเคล็ดลับเพาะ เห็ดมิลกี้ Milky Mushroom สไตล์คนเมืองพื้นที่น้อย ให้ได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อกล่าวถึงอาหารเพื่อสุขภาพ เชื่อว่าต้องมี “เห็ด” อยู่ในรายชื่อนั้นอย่างแน่นอน เนื่องจากเห็ดจัดเป็นอาหารกลุ่มพืชผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามิน และเส้นใยอาหารมาก เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งมีไขมันต่ำ จึงนิยมรับประทานเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้เห็ดหลายชนิดยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายและเป็นยารักษาโรคด้วย จึงไม่แปลกที่หลายคนหันมาสนใจรับประทานเห็ดกันมากขึ้น
เห็ดกินได้ส่วนมากมีเนื้ออ่อนนุ่มหรือกรุบกรอบน่ากิน จัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้พืชผัก ดอกเห็ดมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน จึงเหมาะที่จะเป็นอาหารมังสวิรัติแทนเนื้อสัตว์ และมีร้านอาหารไม่น้อยที่รังสรรค์เมนูเห็ดได้อย่างน่าสนใจ ฉีกภาพอาหารที่ใช้เห็ดเป็นวัตถุดิบแบบเดิม ๆ ดังเช่น เซ็ตเมนูเห็ด โอมากาเห็ด (Omakahed) ของฟาร์มลุงรีย์
นอกจากความสนใจบริโภคเห็ดกันมากขึ้น หลายคนยังขยับมาลงมือปลูกเห็ดด้วยตัวเอง ทั้งเพื่อบริโภคในครอบครัวและต่อยอดเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะคนเมืองที่มีความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ส่งผลให้การเพาะปลูกเห็ดโดยไม่ใช้สารเคมีได้รับความนิยมตามไปด้วย หนึ่งในเห็ดที่เป็นที่ชื่นชอบก็คือ เห็ดมิลกี้ หรือ เห็ดหิมาลัย
เห็ดมิลกี้ หรือ เห็ดหิมาลัย Milky Mushroom มีถิ่นกำเนิดทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในอินเดียมาหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันนอกจากพบมากในตลาดท้องถิ่นอินเดีย ยังพบในจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเริ่มมีการเพาะปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เห็ดมิลกี้ มีลักษณะเด่นคือ เป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่ หมวกเห็ดกลม สีขาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-14 เซนติเมตร ก้านอวบหนาขนาดใหญ่ ยาวเฉลี่ย 10 เซนติเมตร เนื้อแน่น มีเส้นใยสูง อุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินอี วิตามินซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก และสังกะสี สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
6 ขั้นตอนการเพาะ เห็ดมิลกี้ Milky Mushroom สไตล์ ฟาร์มลุงรีย์
Step 1 ขยายเชื้อเห็ดมิลกี้ในก้อนแคปซูล โดยใช้เมล็ดธัญพืชเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว ฯลฯ จากนั้นนำก้อนแคปซูลไปวางไว้ในพื้นที่ที่สะอาด ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันเชื้อเห็ดจะเจริญเต็มเมล็ดธัญพืช เก็บไว้นานประมาณ 6 เดือน ยิ่งเก็บไว้นานเชื้อยิ่งแข็งแรง
Step 2 เปิดก้อนแคปซูล คลีนจุก ค่อย ๆ แกะถุงออก ระวังอย่าให้ก้อนแคปซูลแตก จากนั้นนำก้อนมาเรียงในกระบะ กระบะละประมาณ 6 ก้อน
Step 3 นำวัสดุเพาะ ได้แก่ มูลไส้เดือน แกลบดำ และน้ำเปล่า อัตราส่วน 2 : 2 : 2 ผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน คลุกเคล้าให้หมาด จากนั้นนำมาพอกผิวหน้าก้อนเห็ดที่วางเรียงในกระบะ ปิดฝาเพื่อบ่มเชื้อในห้องที่สะอาด อุณหภูมิประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรให้กระบะโดนแดด ฝน และลม วางทิ้งไว้ 16-26 วัน
Step 4 ตั้งตา เฝ้ารอ และสังเกต เมื่อเห็นเส้นใยเห็ดพัฒนาและรวมตัวกันปกคลุมทั่วกระบะ (ดูคล้ายหิมะ) กระทั่งเห็ดแทงดอกเล็ก ๆ ขึ้นมาจึงเปิดฝา รออีกประมาณ 6 วันจนเห็ดโต
Step 5 ได้เวลาเก็บเกี่ยว ควรสวมถุงมือแล้วค่อย ๆ โยกที่โคนก้านเห็ด เมื่อต้นหลุดออกจึงใช้มีดสะอาดตัดเห็ดออกมา ตัดแต่งส่วนที่เปื้อนออกหรือปัดทำความสะอาด อย่านำเห็ดล้างน้ำเพราะเห็ดจะดูดความชื้นเข้ามาในเนื้อจนเสียรสชาติ จากนั้นนำเห็ดไปทำกับข้าว ปรุงเมนูอาหารได้หลากหลาย อร่อยมากไม่โกหก!!
Step 6 หลังจากเก็บเกี่ยวเห็ดจนหมดกระบะก็ให้วนกลับไปเริ่มบ่มเชื้อใหม่ โดยรื้อซากเห็ดและวัสดุเพาะออก จากนั้นจึงผสมวัสดุเพาะใหม่แล้วพอกวนไป ปิดฝากระบะ บ่มเชื้อ จะสามารถทำแบบนี้ได้ประมาณ 6 รอบ
นอกจากเทคนิคการเพาะเห็ดมิลกี้ที่แนะนำนี้ ฟาร์มลุงรีย์ยังนำเห็ดมิลกี้ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการปรุงอาหาร โดยประยุกต์และออกแบบเมนูเห็ดที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เพิ่มรสชาติหลากหลาย จัดเสิร์ฟในรูปแบบโอมากาเห็ด (Omakahed) เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าเห็ดสามารถพัฒนาไปได้อีกหลายรูปแบบ… แนะนำให้ไปลองชิมเมนูเห็ดที่นี่ รับรองว่าไม่ผิดหวัง
เกร็ดน่ารู้ : โดยทั่วไปเห็ดที่เราบริโภคแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะนิสัยในการเจริญเติบโต ได้แก่ เห็ดเขตหนาวและเห็ดเขตร้อน ซึ่งแต่ละประเภทต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเห็ดเขตหนาวต้องการอุณหภูมิต่ำกว่า 25 จนเกือบถึง 0 องศาเซลเซียส จึงจะออกดอกได้ดี สำหรับเห็ดเขตร้อนมักชอบอากาศร้อนชื้น ส่วนใหญ่เป็นเห็ดที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ และเห็ดเศรษฐกิจที่เราเห็นทั่วไปในท้องตลาด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดฟาง ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming
My Little Farm Vol.10 ปลูกเห็ดแบบคนเมือง โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน