อยากเก็บต้นไม้เดิมไว้เมื่อถมที่

การถมดินเพื่อยกระดับให้สูงขึ้น อาจเพื่อจัดสวนหรือใช้เป็นลานจอดรถหรือทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับพื้นที่ที่ต้องการเก็บรักษาต้นไม้เดิมไว้  จะด้วยคุณประโยชน์และความงาม หรือ ความผูกพันที่มีต่อต้นไม้เดิมที่เคยอยู่ด้วยกันมาช้านาน แต่ก็ควรคิดไว้เสมอว่า ต้นไม้แต่ละชนิดมีความอดทนต่อการถมสูงไม่เท่ากัน ถ้าถมสูงไม่เกิน 0.30 เมตร ไม้ใหญ่ทั่วไปยังสามารถอยู่รอดได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องถมสูงกว่านี้  ควรหาวิธีป้องกันระบบรากและรักษาผิวดินบริเวณรากไว้

 

วิธีป้องกันรากและรักษาผิวดินในเขตรากพืชก่อนการถมดิน

  1. เก็บเศษวัสดุ ขยะจำพวกพลาสติกและวัชพืช ออกจากบริเวณรากพืชให้สะอาดเรียบร้อย
  2. กำหนดแนวขอบเขตรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมออกห่างจากโคนต้นประมาณ 50 ซม. ที่แนวขอบเขตนี้ให้กำหนดเป็นแถบกว้างอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ใส่กรวดหรือก้อนหินขนาด 2-4 นิ้ว หนา 30 เซนติเมตรโดยรอบ จากแนวขอบเขตนี้ให้กำหนดแถบเส้นเป็นรูปรัศมีออกไป 6 แถบ แถบกว้างอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ความยาวเท่ารัศมีทรงพุ่มหรือสุดแนวราก ปรับให้แถบนี้ลาดเอียงระบายน้ำออกจากโคนต้น แล้วใส่กรวดขนาดเดียวกันเต็มแถบหนา 30 เซนติเมตร
  3. แนวเขตที่ห่างจากโคนต้นประมาณ 50 เซนติเมตร วางกำแพงกันดินรูปตัว L โดยรอบ วางหันหัวตัว L ออกด้านที่ต้องการถมดิน กำแพงกันดินสำหรับการนี้ควรออกแบบทำขึ้นใช้เอง ตามขนาดที่เหมาะสมกับการทำงาน มีการเจาะรูผนังด้านข้างกำแพงกันดินให้มีรูพรุนจำนวนมาก เพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี
  4. ด้านนอกขอบกำแพงกันดิน ที่เป็นแถบกรวดต่อเป็นรัศมีออกมา วางท่อนีโอเดรนหรือท่อพีวีซีขนาด 3 นิ้วเจาะรูพรุน เป็นรูปตัว L โดยวางให้ท่อแนวนอนจมอยู่ในกรวด ท่อแนวตั้งสูงขึ้นมาเลยระดับดินที่จะถมใหม่ประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อวางท่อนี้โดยรอบทั้ง 6 จุดแล้ว ใส่ก้อนหินหรือกรวด โดยชั้นแรกใช้ก้อนหินขนาด 2-4 นิ้ว ชั้นถัดขึ้นมาใส่กรวดขนาด 1นิ้วเต็มพื้นที่เขตราก ให้สูงประมาณ 1/3 – ½ ของระดับดินถมใหม่ แล้วปูทับด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ ก่อนนำดินเข้ามาถมบริเวณที่ต้องการ

หากต้นไม้มีขนาดใหญ่ พื้นที่รากมาก ก็ทำแถบรูปวงกลมซ้อนเพิ่มออกมา ในระยะห่างจากแนวแรก 1.0-1.50 เมตร และตรงจุดตัดกันของแถบกรวดก็วางท่อลักษณะนี้ขึ้นมาอีก 6 ท่อ ท่อนี้จะช่วยระบายอากาศและรับน้ำจากผิวดินลงมาให้กับรากพืชได้

 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ ในการรักษาต้นไม้เดิมไว้ เช่น การทำเนินให้ต้นไม้อยู่บริเวณตีนเนินที่ถมดินน้อยที่สุด    ใส่ท่อระบายอากาศช่วย ซึ่งผู้ก่อสร้างต้องรู้จักดัดแปลงเพื่อให้ต้นไม้ได้รับน้ำและอากาศ รวมทั้งมีวิธีการระบายน้ำระบายอากาศที่ดีด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการถมดินต้องประเมินดูว่า จะต้องขุดย้ายต้นไม้ออกไปพักรอไว้ก่อน แล้วนำเข้ามาปลูกใหม่ หรือขุดออกแล้วจัดหาต้นใหม่มาปลูกทดแทน เพราะการขุดย้ายออกไปพักรอต้องมีค่าใช้จ่ายและมีโอกาสตายได้เช่นกัน ต้นไม้เดิมในพื้นที่ที่มีสภาพเก่าแก่และไม่สมบูรณ์ แม้จะมีการดูแลป้องกันในช่วงงานก่อสร้าง ก็มักมีโอกาสตายสูง จึงควรพิจารณาถึงการขุดออกแล้วจัดหาต้นใหม่ที่อ่อนกว่ามาปลูกทดแทน เพราะเพียงไม่กี่ปีต้นไม้ใหม่ก็เติบโตเท่าต้นเก่า มีสภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงมากกว่า

                สนใจเรื่องการเกี่ยวกับฮาร์ดสเคป ติดตามได้ในหนังสือ Hardscape สิ่งก่อสร้างและงานระบบ เขียนโดย ขวัญชัย จิตสำรวย คู่มือสำหรับผู้สนใจเพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบจัดสวน

เรียบเรียง ทิพาพรรณ

ภาพวาดประกอบ Choopydoowub