องค์ประกอบที่สร้างเอกลักษณ์ให้สวนญี่ปุ่น

ความพิเศษของสวนญีปุ่น คือ จัดให้สวยได้แม้ในพื้นที่จำกัด ให้บรรยากาศธรรมชาติ ดูสงบ ร่มรื่น และผ่อนคลาย จึงตอบรับความต้องการทั้งกายใจสำหรับคนรักสวน

สวนญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1.สวนภูเขาหรือสวนเนิน : สวนที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ

2.สวนในที่ราบ : สวนแห่งการสมมติ

3.สวนน้ำชา :  สวนผสมผสานระหว่างสวนภูเขาและสวนในที่ราบ

สวนญี่ปุ่นในปัจจุบันส่วนใหญ่ นำลักษณะของสวนน้ำชามาผสมผสานเข้ากับสวนธรรมชาติและสวนสมัยใหม่ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆดังนี้

 

น้ำ Mizu

สวนญี่ปุ่นนิยมใช้น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ทั้ง บ่อน้ำ ลำธาร น้ำตก และอ่างน้ำ เพื่อเป็นตัวแทนของแหล่งน้ำตามธรรมชาติ   น้ำตก ลำธาร และสระน้ำ ช่วยสร้างจุดเด่นที่เป็นธรรมชาติในสวนภูเขา อีกทั้งช่วยเพิ่มเสียงและความเคลื่อนไหวให้สวน   ส่วนสวนญี่ปุ่นที่มีพื้นที่จำกัด เราจึงมักพบอ่างหิน หรือสึคุไบ (tsukubai) ที่แปลว่า ก้มตัวลง ในแง่ความหมาย คือการก้มตัวเพื่อลดตัวตน   เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในสวนน้ำชา

 

หิน Ishi

หินสำหรับประดับภายในสวนจะคัดเลือกรูปทรงและสีเป็นพิเศษ ไม่นิยมหินที่มีรอยสกัด ผิดไปจากธรรมชาติ ชนิดของหินที่ใช้กัน ส่วนใหญ่เป็นหินภูเขา ได้แก่ หินทราย หินแกรนิต ฯลฯ นิยมใช้ก้อนหินที่มีสีเข้ม เช่น สีเทา หรือ สีดำ ให้รู้สึกถึงความนิ่งสงบ เข้ากับสีเขียวของไม้พุ่ม  หากไม่จำเป็นอย่าใช้ก้อนหินที่มีสีขาว เพราะจะดูสว่างเกินไป การวางก้อนหินในสวนไม่นิยมวางก้อนเดียวโดดๆควรมีหินก้อนเล็กกว่าวางไว้ข้างๆ จัดวางไว้ในกลุ่มเดียวกัน ทุกก้อนควรมีลักษณะผิวและสีเหมือนกัน  ในกลุ่มหนึ่งๆ จะมีจำนวนก้อนหินเป็นเลขคี่ เช่น 3,5,7 ฯลฯ โดยจัดวางเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือหากวางก้อนหินเพียง 2 ก้อน แล้วปลูกต้นไม้อีก 1 กอก็ได้เช่นกัน

 

ตะเกียงหิน Ishidoro

ตะเกียงหินจะมีปรากฎให้เห็นในสวนญี่ปุ่นแทบทุกแบบ จนกลายเป็นเครื่องประดับและตกแต่งสวนที่ขาดไม่ได้ วัสดุที่ใช้นอกจากจะทำด้วยหินสกัดแล้ว ในระยะหลังยังเห็นทำด้วยไม้หรือหล่อด้วยโลหะชนิดต่างๆ แสงสว่างภายในตะเกียงไม่นิยมแสงที่สว่างจ้านัก ส่วนมากจะใช้แสงจากเทียนหรือตะเกียงน้ำมัน

ตำแหน่งที่วางตะเกียงหิน  ควรวางไว้ใกล้ทางเดิน  ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งก้านโปร่ง  ใกล้น้ำตก ให้ดูสวยงาม

 

แผ่นทางเดิน Tobi-Ishi/Arare-koboshi

ทางเดินในสวนญีปุ่น มีสองรูปแบบ คือ ทางเดินแบบแยกก้าว การวางจะวางคดโค้งไปมาเหมือนเกิดขึ้นเอง

ตามธรรมชาติ  เป็นการบังคับให้ก้าวเดินในเส้นทางนั้น  และทางเดินแบบต่อเนื่อง มักนำแผ่นหินรูปร่างต่างๆปูสลับเป็นลวดลายอย่างสวยงาม บางแบบมีขอบซีเมนต์เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนกรวดกระจายออกไปด้านนอก หรือเป็นแนวที่กำหนด ทางเดินลักษณะนี้มักใช้ในสวนที่มีขนาดใหญ่

 

รั้วญี่ปุ่น Hei and Keki

รั้วญี่ปุ่น มี 2 ชนิด คือ รั้วรอบบ้าน และรั้วประดับภายในสวน

รั้วรอบบ้าน บางบ้านใช้ไม้ไผ่ขัดแตะตลอดทั้งแนว บางบ้านใช้วัสดุอย่างหินภูเขาก่อ เป็นกำแพงหนาแข็งแรง บางแห่งอาจทำหลังคาแคบๆบนแนวรั้ว วัตถุประสงค์ของการทำรั้วรอบบ้าน ก็เพื่อป้องกันและแสดงขอบเขตความเป็นเจ้าของ

รั้วประดับภายในสวน วัสดุที่ใช้ประกอบส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่หรือกิ่งไม้สานขัดโปร่ง สามารถมองผ่านทะลุได้ ความงามของรั้วชนิดนี้อยู่ที่ศิลปะและฝีมือในการสานขัดเป็นลวดลายต่างๆ จะใช้เชือกผูกแทนการตอกด้วยตะปู วัตถุประสงค์ของการทำรั้วโปร่งภายในสวน ก็เพื่อแบ่งขอบเขตของสวน และประดับเป็นฉากหลังเพื่อความสวยงาม

 

ต้นไม้ Niwaki

พรรณไม้ที่ใช้ประกอบสวนญี่ปุ่น เป็นพรรณไม้ที่มักเห็นเติบโตในธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นสนซึ่งมีลีลาและรูปทรงสวยงาม  และมีมากมายหลายชนิด ต้นไม้อื่นๆมักใช้ต้นที่ให้สีเขียวตลอดปี ปลูกเป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างตามความเหมาะสม บางครั้งอาจย่อส่วนของต้นไม้ หรือตัดแต่งให้มีลีลาสง่างามเพื่อให้เกิดความสมดุลในองค์ประกอบของศิลปะ บางชนิดตัดแต่งให้เห็นลำต้นเป็นเส้นแนวตั้งดูโปร่งตา ส่วนใหญ่มักใช้ต้นที่เติบโตช้า เพื่อไม่ต้องตัดแต่งกันบ่อยๆ

เอกลักษณ์ของสวนญี่ปุ่น มีรูปแบบที่เรียบง่าย  ธรรมชาติที่งดงาม   ร่มรื่น สงบ จึงเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน และหลบลี้จากความวุ่นวายภายนอก นอกจากนี้ยังสวยงามตลอดปี  สร้างความประทับใจให้ผู้สัมผัส ด้วยลักษณะพิเศษของแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกันไป

ข้อมูลจากหนังสือ สวนญี่ปุ่นในเมืองไทย เนื้อหาในเล่มครบครัน ทั้งหลักการจัดสวนญี่ปุ่นแบบเจาะลึก ตัวอย่างสวนสวยและพรรณไม้ในไทยที่เหมาะกับสวนญี่ปุ่น

 

เรียบเรียง ทิพาพรรณ

ออกแบบกราฟิก กฤติยา เรือนจันทึก