5 โรคพืช ที่พบบ่อยใน ผักตระกูลกะหล่ำ (Cruciferous Vegetables) ซึ่งเป็นผักกินใบที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย จึงมีการปลูกทั่วทุกภาคและตลอดทั้งปี ทั้งปลูกเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริมหลังการทำนา และปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน
ลักษณะอาการของโรคพืชแต่ละโรค จะมีอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อสาเหตุและพืช โดยบางโรคอาจมีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการบริหารจัดการโรคพืชนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อต้นพืชและผลผลิต
สำหรับผักตระกูลกะหล่ำที่นิยมปลูกในบ้านเรามีหลายชนิด เช่น คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักกาดกวางตุ้งไต้หวัน คะน้าเคล ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม กะหล่ำดาว บรอกโคลี ผักกาดหัวหรือหัวไชเท้า เทอร์นิป เป็นต้น ผักตระกูลกะหล่ำเหล่านี้ มีโรคพืชที่สำคัญและพบบ่อย ดังนี้
โรคใบจุดคะน้า (Alternaria leaf spot)
สาเหตุ เชื้อรา Alternaria brassicicola
อาการ เกิดแผลจุดเล็ก ๆ สีเหลืองบนใบ ต่อมาขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีน้ำตาล ระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น
โรคเน่าเละ (Bacterial soft rot)
สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Pectobacterium carotovorum subsp. carotovorum
อาการ แผลฉ่ำน้ำและเน่าลุกลาม มีเมือกเยิ้ม ส่งกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนจัดและมีฝนตกชุก
โรคขอบใบทองหรือเน่าดำ (Bacterial leaf blight)
สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. campestris
อาการ ใบเหลืองจากขอบใบแล้วลามลึกเข้ามาในเนื้อใบเป็นรูปตัว V เส้นใบบริเวณนี้จะมีสีน้ำตาลดำ ต่อมาขอบใบจะแห้ง ใบเหี่ยวเฉาหรือหลุดจากต้น
โรคราน้ำค้างกวางตุ้ง (Downy mildew)
สาเหตุ เชื้อรา Peronospora parasitica
อาการ ใบเป็นจุดแผลสีเหลืองต่อมาเป็นสีน้ำตาล แผลค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ขอบไม่แน่นอน มีกลุ่มเชื้อราสีขาวหรือสีเทาใต้แผล
โรครากบวม (Clubroot)
สาเหตุ เชื้อรา Plasmodiophora brassicae
อาการ รากบวมโตผิดปกติ ใบเหลือง ต้นเหี่ยวเฉาในช่วงกลางวัน ต้นแคระแกร็น
นอกจาก 5 โรคดังกล่าวแล้ว ยังมีโรคพืชที่เกิดจากเชื้อสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายโรค ซึ่งเมื่อผู้ปลูกวินิจฉัยอาการของโรคจนทราบว่าน่าจะเกิดจากเชื้อสาเหตุชนิดใดแล้ว ทำการหาข้อมูลรายละเอียดคุณสมบัติของเชื้อโรคและการแพร่ระบาด เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื้อสาเหตุโรคต่างชนิดกันจะมีวิธีการป้องกันกำจัดที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเชื้อสาเหตุโรคชนิดเดียวกันอาจมีวิธีการป้องกันกำจัดไปในทิศทางเดียวกันได้
เรียนรู้เพิ่มเติมได้ในหนังสือ รู้ทันโรคพืช คู่มือดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเอง ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน
ผู้เขียน : ผศ. ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของเพจ รู้ทันโรคพืช และ นานาสาระ โรคพืช