5 แนวทาง การเลือกซื้อ ปุ๋ยเคมี
การปลูกพืชหรือทำเกษตร นิยมเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้พืชในรูปของ ปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยเคมีนับเป็นวัสดุการเกษตรที่มีราคาแพง จึงส่งผลให้มีการผลิตปุ๋ยปลอมออกมาจำหน่าย ทำให้ปุ๋ยเคมีด้อยคุณภาพลง ดังนั้น จึงมีหลักการพิจารณาลักษณะและคุณภาพของปุ๋ยเคมี โดยใช้ 5 แนวทาง การเลือกซื้อ ปุ๋ยเคมี ดังนี้
ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอนินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ และหมายความตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนปลาสเตอร์ หรือยิปซัมไดโลไมต์
จากการปรับปรุงการผลิตพืชทั้งด้านปรับปรุงพันธุ์และการเขตกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น พืชผลต่าง ๆ ตอบสนองต่อธาตุอาหารพืชเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตมากขึ้น จึงนิยมเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้พืชในรูปของปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยเคมีนับเป็นวัสดุการเกษตรที่มีราคาแพง จึงส่งผลให้มีการผลิตปุ๋ยปลอมออกมาจำหน่าย ทำให้ปุ๋ยเคมีด้อยคุณภาพลง ดังนั้นจึงมีหลักการพิจารณาลักษณะและคุณภาพของปุ๋ยเคมีเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อ ดังนี้
- ลักษณะของฉลากปุ๋ยที่ถูกต้อง ตัวอักษรและเครื่องหมายที่พิมพ์ไว้ข้างกระสอบปุ๋ยต้องมีข้อความต่อไปนี้
- ปุ๋ยเคมี
- ชื่อปุ๋ยทางการค้า
- เครื่องหมายการค้า
- ปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสูตรปุ๋ย
- น้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมีระบบเมตริก
- ชื่อผู้ผลิตและสถานที่ตั้ง
- ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่ผสมอยู่ (ถ้ามี)
- ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลาก
- พิจารณาราคาธาตุอาหารในปุ๋ยว่าชนิดใดราคาถูกกว่ากัน
- เลือกซื้อปุ๋ยให้เหมาะกับชนิดพืช สภาพดินที่ปลูก และให้ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของพืชนั้น ๆ จะทำให้ปุ๋ยที่ใช้มีประสิทธิภาพสูงสุด
- พิจารณาจากความต้องการธาตุอาหารพืชและระดับธาตุอาหารพืชที่ขาดแคลน หรือต่ำกว่ามาตรฐานที่พืชต้องการ ซึ่งสามารถดูได้จากผลการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินเมื่อนำดินไปวิเคราะห์
- พิจารณาปริมาณธาตุอาหารหลักที่ต้องใช้ต่อไร่เป็นเกณฑ์และเลือกใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง โดยควรเลือกใช้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารราคาถูก ซึ่งสามารถคำนวณได้ และโดยส่วนใหญ่จะเห็นว่า ปุ๋ยที่มีสูตรสูง (มีธาตุอาหารในปุ๋ยรวมกันมาก) จะมีธาตุอาหารราคาถูกกว่าปุ๋ยที่มีสูตรต่ำ (มีธาตุอาหารในปุ๋ยรวมกันน้อย) นอกจากนี้ปุ๋ยสูตรสูงมีข้อดีหลายประการ เช่น ประหยัดค่าขนส่ง การเก็บรักษา ตลอดจนการนำไปใช้ เพราะใช้เพียงจำนวนเล็กน้อยก็เพียงพอต่อความต้องการของพืช
Did You Know?
ปุ๋ยเคมีมีส่วนผสมธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือโพแทสเซียม ในรูปและปริมาณที่พืชต้องการ เป็นปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติและผลิตจากอนินทรียสารหรืออินทรีย์สังเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อใส่ลงไปในดินที่มีความชื้นเหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีปุ๋ยเคมีหลายประเภทให้เลือกใช้ ได้แก่ ปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงประกอบ และปุ๋ยเชิงผสม เป็นต้น
นอกจากนี้ ปุ๋ยเคมีโดยทั่วไปจะมีลักษณะทางกายภาพและสถานะแตกต่างกัน ปุ๋ยเคมีบางชนิดอยู่ในรูปของแข็ง มีอนุภาคเป็นผงหรือเป็นเม็ด บางชนิดอยู่ในรูปของเหลวหรือปุ๋ยน้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต สามารถจำแนกปุ๋ยเคมีและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันตามสถานะของปุ๋ยนั้น ๆ
ภาพวาดประกอบ : กฤติยา เรือนจันทึก