ปุ๋ยหมัก ใบไม้และเศษหญ้าในตะกร้า
ปุ๋ยหมัก ใบไม้และเศษหญ้าในตะกร้า สามารถทำใช้เองแบบ Step by Step ได้ง่าย โดยการนำใบไม้ เศษหญ้า เศษผัก และเปลือกผลไม้ มาหมักรวมกับปุ๋ยคอกในตะกร้า ใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็ได้ปุ๋ยหมักพร้อมใช้
การทำ ปุ๋ยหมัก ในปัจจุบันมีหลายระดับและหลายวิธีการ แต่โดยทั่วไปมีหลักการทำคล้ายคลึงกันคือ การนำเศษซากพืชหรือเศษอินทรียวัตถุต่าง ๆ มากองรวมกัน ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสม แล้วปล่อยให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยหมักช่วยย่อยสลายเศษซากอินทรียวัตถุเหล่านั้น พร้อมกับการพัฒนาเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารสูงและพร้อมใช้งานในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
ในสวนครัวและไร่นาสวนผสมส่วนใหญ่มักมีวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ ทั้งกิ่งไม้ ใบไม้ เศษซากวัชพืช เปลือกผลไม้ และเศษผักที่นำมาทำปุ๋ยหมักได้ โดยใช้ร่วมกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีทั้งเรื่องสัดส่วนของวัสดุที่นำมาทำปุ๋ยหมัก สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและกิจกรรมของจุลินทรีย์ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้ปุ๋ยหมักมาใช้ในระยะเวลาสั้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้นด้วย
สำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัดแต่อยากทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง สามารถนำวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งต่าง ๆ ทั้งใบไม้ เศษหญ้า เศษผัก และเปลือกผลไม้ มาหมักรวมกับปุ๋ยคอกในภาชนะที่มีรูด้านข้าง เช่น ตะกร้า เข่ง ตาข่ายไนลอน เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับกองปุ๋ย ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็ได้ปุ๋ยหมักพร้อมใช้
วัสดุอุปกรณ์
- ตะกร้า เข่ง ตาข่าย หรือภาชนะอื่น ๆ ที่มีรูด้านข้าง
- วัสดุอินทรีย์ในสวน ได้แก่ ใบไม้ กิ่งไม้ เศษซากวัชพืช เศษผัก เปลือกผลไม้ ฯลฯ
- ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลไก่ มูลหมู
- น้ำหมักชีวภาพ เช่น จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
- อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ บัวรดน้ำ
วิธีทำ Step by Step
Step 1 นำใบไม้และเศษหญ้าสดหรือแห้ง 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในตะกร้าแล้วรดน้ำให้ชุ่ม หรือวางใบไม้และเศษหญ้าสลับกับปุ๋ยคอกเป็นชั้น ๆ ก็ได้
Step 2 วางตะกร้าไว้ในที่ร่มหรือที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยหมักวันเว้นวัน และทุก 7-10 วันให้นำสายยางเสียบลงตะกร้าในแนวดิ่งลึก 2 ใน 3 เพื่อเติมน้ำข้างใน อาจรดกองปุ๋ยด้วยน้ำหมักชีวภาพก็ได้ เพื่อช่วยเร่งการย่อยสลายให้เร็วขึ้น
Step 3 หลังจากหมักประมาณ 2 เดือน ให้แยกวัสดุอินทรีย์ส่วนที่ยังไม่ย่อยสลายที่ผิวหน้าและด้านข้างตะกร้าออก เททั้งหมดคว่ำลง ผึ่งปุ๋ยหมักที่ได้ให้แห้งในที่ร่มแล้วเก็บใส่ถุงไว้ใช้ ส่วนวัสดุที่ยังไม่เปื่อยก็เก็บไว้หมักรุ่นต่อไป
ปุ๋ยหมักพร้อมใช้งาน
ปุ๋ยหมักที่ได้จะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลักษณะเปื่อยยุ่ยและอ่อนนุ่ม สัมผัสแล้วไม่ร้อนมือ ไม่มีกลิ่นเหม็นฉุน อาจมีหญ้าหรือเห็ดขึ้นบนกองปุ๋ยหมักได้
อ่านวิธีทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพแบบง่าย ๆ รวมมากกว่า 30 สูตร ได้เพิ่มเติมในหนังสือ ทำปุ๋ยหมักใช้เอง Composting Made Easy
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักในตะกร้า
สูตรทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
ทำปุ๋ยหมัก ช่วยคลายเครียดได้ ทำง่ายด้วย