ครัว ...สวยอย่างมืออาชีพ

ครัว…สวยอย่างมืออาชีพ

หลายคนอาจเคยประสบปัญหาเหล่านี้ “อยากได้ ครัว สวยๆ แต่พอใช้งานแล้วกลับไม่เวิร์ค” หรือ “ครัวที่ใช้งานได้ดี แต่ไม่กล้าโชว์” “ดีไซน์ไอเดีย” ฉบับนี้ ขอนำเสนอตัวอย่างครัวดีๆที่เหมาะกับการทำอาหารและขนม มาดูกันว่าครัวที่ทั้งสวยและใช้งานได้ดีนั้นควรเป็นอย่างไร (ครัวทำขนมที่ดีควรเป็นแบบไหน)

ประเภทของครัว

แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. ครัวแบบปิด

ครัวที่กั้นเป็นห้องหรือแยกออกจากตัวบ้าน เหมาะกับครอบครัวที่เน้นการทำอาหารหนักเป็นประจำ เช่น อาหารไทยหรือจีน ซึ่งมักมีกลิ่นหรือควันฟุ้งไปทั่วระหว่างการประกอบอาหาร การกั้นห้องช่วยควบคุมเรื่องกลิ่นและควันได้ แต่อาจทำให้บ้านดูแคบและอึดอัด ซึ่งแก้ไขได้โดยการออกแบบประตูบานเลื่อนที่เปิด-ปิดได้ เวลาไม่ใช้งานก็เปิดประตูให้ดูโปร่งและโชว์ให้เห็นครัวสวยๆไปในตัว

kit-1-2

_MG_5771

 

2. ครัวแบบเปิด (ครัวโชว์)

ครัวในบ้านที่เปิดพื้นที่ต่อเนื่องกับส่วนอื่นๆ เช่น ส่วนรับประทานอาหาร  ส่วนนั่งเล่น แต่อาจกั้นด้วยเคาน์เตอร์ครัวแทน ครัวประเภทนี้มักอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ ซึ่งใช้เตรียมอาหารเล็กๆน้อยๆ หรือที่เรียกว่า “แพนทรี่” หรืออาจมีการใช้งานเหมือนครัวปิดทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากเรื่องความสวยงามก็คือควรติดตั้งเครื่องดูดอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อช่วยดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกสู่ภายนอกบ้าน กันไม่ให้กลิ่นอาหารฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ

kit-1-1

BSd20081201_021

 

ขนาดและสัดส่วน

ช่วยให้เราใช้งานครัวได้อย่างสะดวกสบาย โดยทั่วไปมักออกแบบตามขนาดมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยที่อ้างอิงได้ แต่ถ้าอยากได้ครัวที่ทำงานได้อย่างสบายที่สุด ควรหาระยะที่เหมาะสมของแต่ละคน อาจไปทดลองใช้งานจริงด้วยตัวเองตามเคาน์เตอร์ครัวตัวอย่าง แล้ววัดขนาดหาค่าเฉลี่ย เพื่อให้ได้ระยะที่พอเหมาะพอดีของตัวเอง

kit-1-3

kit-1-4
ผู้ที่สูงประมาณ 1.75 – 1.90 เซนติเมตร อาจเหมาะกับเคาน์เตอร์อ่างล้างจานที่สูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร เพื่อจะได้ไม่ต้องก้มหลังมากเกินไป (เคาน์เตอร์อ่างล้างจานปกติสูงประมาณ 80-85 เซนติเมตร)

kit-1-5

ทำความสะอาดง่าย

ควรทำความสะอาดครัวทันทีหลังใช้งานเสร็จ เพื่อป้องกันมดและแมลงไม่พึงประสงค์ รวมถึงไม่ทำให้เกิดคราบฝังแน่น ดังนั้นจึงควรเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่ายและมีรอยต่อน้อย เช่น

– ท็อปเคาน์เตอร์ครัว นอกจากต้องเลือกวัสดุที่ทนทานแล้ว วัสดุนั้นก็ควรปลอดภัยต่อร่างกายด้วย เพราะบางครั้งอาจต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง ดังนั้นวัสดุที่ใช้ควรมีลักษณะเรียบลื่นไร้รอยต่อ เช่น Solid Surface เหมาะสำหรับท็อปเคาน์เตอร์ใกล้เตาหรือส่วนเตรียมอาหาร เพราะทนทาน ทำความสะอาดง่าย ไร้รอยต่อ หรือลามิเนต ก็เหมาะกับท็อปเคาน์เตอร์ที่ใช้งานทั่วไป ทำความสะอาดง่าย ทนต่อรอยขีดข่วน และดูสวยงามด้วย

– ผนังหลังเตา เป็นพื้นที่ที่เศษอาหารจะกระเด็นหรือเปื้อนได้ง่ายที่สุด นอกจากการเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่ายแล้ว วัสดุนั้นควรทนความร้อนจากเตาได้ด้วย เช่น สเตนเลสสตีล กระจกลามิเนต หรือกระเบื้องหินธรรมชาติ

– พื้น มีโอกาสเกิดรอยเปื้อนจากอาหารและคราบมันต่างๆ ควรเลือกพื้นผิวที่เรียบแต่ไม่ลื่น เช่น กระเบื้องโฮโมจีเนียส (Homogeneous) ซึ่งมีผิวสัมผัสหยาบ แต่ขอบเรียบตัดตรง สามารถปูได้ชิด ลดปัญหาคราบสกปรกที่สะสมตามร่องยาแนว หรือหินสังเคราะห์ ก็มีอัตราการดูดซึมน้ำต่ำ ให้ลุคสวยงามและทนทานด้วย

ครัว

BSP090208-052

 

นอกจากนี้ครัวยังควรคำนึงถึงเรื่องการระบายอากาศ แสงสว่าง โทนสี รวมถึงการจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ทำให้พื้นที่นี้ดูสวยงามและใช้งานดี หากใครยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ลองฟังประสบการณ์ตรงจากเชฟมืออาชีพกันดีกว่า

 

>>อ่านไอเดีย ครัวทำอาหารที่ดีควรเป็นแบบไหน ต่อได้ที่นี่เลย<<

 

เรื่อง : “รนภา นิตย์”

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, ฤทธิรงค์ จันทองสุข, คลังภาพบ้านและสวน

ภาพประกอบ : อาภาศรี มีมานะ