นอกจากการออกแบบพื้นที่ส่วนตัวให้สะดวกแล้ว ก็ต้องจัดเตรียมพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่คุณตาคุณยายหรือสมาชิกวัยอื่นๆ ในบ้านได้ใช้งานร่วมกันตามแบบฉบับครอบครัวอบอุ่น เรามาเริ่มต้นที่ห้องครัวกัน
ในบ้านที่คุณตาคุณยายชอบทำอาหารเอง นอกเหนือไปจากการออกแบบครัวที่จัดวางตามหลักการออกแบบที่มักวางอุปกรณ์หลัก 3 อย่างคือ อ่างล้าง เตา และตู้เย็นเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับความสะดวกและปลอดภัยในการใช้งานเป็นพิเศษ ดังนี้
1 มีที่นั่งพัก คุณตาคุณยายมักยืนไม่ได้นานเหมือนคนหนุ่มสาว จึงควรทำที่นั่งพักหรือใช้นั่งเตรียมอาหาร เช่น ปอกหัวหอม เด็ดยอดตำลึง โดยทำเป็นตู้สูง 45-50 ซม.ที่สามารถนั่งด้านบนได้ จะช่วยให้ทำครัวสะดวกมากขึ้น
2 ก้มน้อย หยิบง่าย คุณตาคุณยายที่มีอายุมากๆ มักยกแขนได้สูงน้อยลงและก้มตัวลำบาก จึงควรออกแบบห้องครัวให้หยิบใช้ง่ายโดยไม่ต้องก้มหรือเหยียดแขนมากเกินไป เช่น ที่คว่ำจานควรสูงไม่เกินระดับเอว ชั้นวางของควรเลื่อนเข้า-ออกได้ เป็นต้น
3 เครื่องช่วยผ่อนแรง หากมีของที่ต้องหยิบหรือย้ายบ่อยๆ เช่น เครื่องปรุงหรือเครื่องครัว อาจทำชั้นวางแบบมีล้อเลื่อน พร้อมเตรียมพื้นที่ใต้เคานเตอร์ให้เลื่อนไปเก็บได้จะได้ไม่เกะกะ
4 หยิบของสูงไม่ต้องเขย่ง หากในครัวมีตู้สูงเกินเอื้อม ควรเตรียมบันไดเตี้ยไว้ใช้ก็จะปลอดภัยกว่าการปีนเก้าอี้ เพราะช่วงก้าวที่สูงจะทำให้ตกลงมาได้ง่าย
5 เพิ่มประโยชน์ใช้สอย บ่อยครั้งที่ครัวต้องรับบทหนัก พื้นที่ไม่พอวางของ ถ้าทำที่วางของรางเลื่อนซ่อนไว้ใต้เคานเตอร์ ก็จะมีพื้นที่โดยไม่ต้องเดินไปวางไกลๆ
6 ของร้อนต้องสังเกตเห็นชัด อย่าง กาน้ำที่เพิ่งเดือด ควรวางทิ้งไว้บนเตา หรือวางพักไว้บนเคานเตอร์ก็ควรมีฐานรองหรือมีผ้าจับของร้อนวางคลุมมือจับไว้ให้เห็นเป็นจุดสังเกต บ้านที่มีผู้สูงอายุที่ชอบทำครัวบ่อยๆ อาจไม่เหมาะกับหัวเตาเซรามิกที่เปิดปิดด้วยระบบสัมผัส เพราะอาจเผลอไปโดนบริเวณเตาได้ หากจะให้ปลอดภัยควรใช้รุ่นที่ปุ่มเปิดปิดแบบลูกบิดหรือแบบปุ่มนูนที่สังเกตเห็นได้ง่าย
ข้อมูล: Family home การออกแบบเพื่อคนทุกวัยในบ้าน โดย ศรายุทธ ทิพย์ศรีอาสน์ ภาพประกอบโดย คณาธิป จันทร์เอี่ยม สำนักพิมพ์บ้านและสวน
สงวนสิทธิ์ โดยบมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยมิได้รับอนุญาต