การใช้ต้นไม้ทำรั้ว หรือรั้วต้นไม้ (Hedge) เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ช่วยเพิ่มบรรยากาศธรรมชาติกับบ้าน ช่วยป้องกันเสียง แสงและกรองฝุ่นละอองได้ดี แต่อาจไม่แข็งแรงทนทานพอที่จะป้องกันการบุกรุกของคนและสัตว์ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในเขตเมือง
การทำรั้วแบบที่ใช้ต้นไม้ทำจริงๆ ต้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างรั้ว คือต้องหล่อเสา เทคาน เพื่อความแข็งแรง ระหว่างเสารั้วแต่ละต้นใช้วิธีขึงลวดหนามหรือกรุด้วยลวดตาข่ายแทนการก่ออิฐ ก่อหินเหมือนรั้วทั่วไป จากนั้นจึงปลูกต้นไม้ที่มีพุ่มใบหนาแน่น ข้อใบถี่ กิ่งก้านแน่น แข็งแรงทนทาน ตัดแต่งเป็นรูปทรงได้ง่าย เมื่อตัดแต่งแล้วแตกกิ่งก้านใหม่ได้เร็ว ขึ้นบังโครงสร้างรั้ว เพื่อให้ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีที่ต้องรอเวลาให้ต้นไม้เติบโต หลายบ้านจึงนิยมออกแบบรั้วให้แข็งแรงและปลูกต้นไม้ประดับเสริมหรือล้อกับรั้ว เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติและสวยงามมากกว่า
ระยะปลูก
การทำรั้วต้นไม้ ส่วนใหญ่นิยมไม้พุ่มชนิดต่างๆ เช่น ชบา พู่ระหงษ์ ข่อย ชาข่อย ชาฮกเกี้ยน โมก เฟื่องฟ้า โดยจะปลูกเป็นแนว เป็นกลุ่ม มีหลายบ้านที่ใช้ไม้เลื้อย เช่น สร้อยอินทนิล อัญชัน พวงชมพู โดยทำรั้วให้เลื้อยคลุม
การกำหนดระยะปลูกขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มและอัตราการเจริญเติบโต หากต้องการใช้รั้วต้นไม้อย่างรวดเร็ว ควรเลือกต้นไม้ที่โตเร็วและปลูกให้ถี่ เพื่อให้ได้ทรงพุ่มหนาแน่น แต่ถ้าไม่รีบร้อน ควรปลูกระยะห่าง ปล่อยให้เจริญเติบโตแล้วจึงตัดแต่งให้ทรงพุ่มแน่นขึ้น และควรสังเกตเงาที่ทอดจากแนวรั้วลงพื้น เพื่อเว้นระยะปลูกให้พ้นจากเงารั้วหรือเลือกต้นไม้ที่ทนร่มได้ดี เช่น โมก โกสน
วิธีปลูก
ดินปลูกควรผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย การทำรั้วต้นไม้ ให้ขุดหลุมยาวต่อเนื่องตลอดแนวรั้ว
การปลูกอาจปลูกแบบสองแถวสับหว่างหรือปลูกเรียงเป็นแถวเดียวก็ได้ ขึ้นกับความหนาของรั้วที่ต้องการ ส่วนไม้ต้นหรือไม้เลื้อยนิยมปลูกเรียงเป็นแถวเดียว ก่อนปลูกใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 รองก้นหลุมก่อน
ขั้นตอนสำคัญขณะปลูก คือ ระวังไม่ให้ตุ้มดินแตกหรือทำให้รากได้รับความกระทบกระเทือน เพราะจะทำให้ต้นไม้ตั้งตัวได้ช้า รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เมื่อต้นไม้ตั้งตัวได้แล้วจึงใส่ปุ๋ยเดือนละ 1-2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยเสริมในช่วงก่อนออกดอกและหลังออกดอก เพื่อให้ต้นไม้ได้นำไปใช้ได้เต็มที่
การตัดแต่งทรงพุ่ม
เป็นขั้นตอนสำคัญในการดูแลต้นไม้ นอกจากจะได้ทรงพุ่มที่สวยงามแล้ว ยังช่วยกำจัดโรคและแมลง และเพิ่มการออกดอกของต้นไม้บางชนิดด้วย การตัดแต่งควรทำก่อนฤดูฝน เพราะต้นไม้จะแตกยอดใหม่ได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับน้ำฝน หรือตัดแต่งหลังออกดอกแล้ว โดยตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ตัดกิ่งแห้งตายหรือเป็นโรคทิ้งไป และตัดให้เข้ารูปทรงที่ต้องการ
การตัดแต่งบังคับขนาดและทรงพุ่มจะอาศัยหลักธรรมชาติของการเจริญเติบโตของต้นไม้ คือ ถ้าตัดกิ่งด้านข้าง อาหารสะสมที่อยู่ในต้นจะส่งไปเลี้ยงส่วนยอด ทำให้ต้นเจริญเติบโตทางความสูง และในทางกลับกันถ้าตัดยอดออก อาหารสะสมจะส่งไปเลี้ยงที่กิ่งด้านข้าง ทำให้ทรงพุ่มแน่นขึ้น วิธีนี้สามารถช่วยให้คุณบังคับรูปทรงของต้นไม้ได้
การปลูกไม้ทำรั้วหรือไม้ตัดแต่งรูปทรงก็อาศัยหลักธรรมชาติข้อนี้เช่นกัน โดยเริ่มจากปล่อยให้ต้นไม้เจริญทางความสูง เมื่อได้ระดับที่ต้องการ รวมทั้งกิ่งมีตาใบที่สมบูรณ์ จึงตัดยอด เพื่อบังคับให้ต้นไม้แตกพุ่มด้านข้าง จากนั้นตัดแต่งควบคุมขนาดความกว้าง เมื่อได้ขนาดหรือรูปทรงที่ต้องการแล้วก็หมั่นตัดแต่งให้เข้ารูปทรงอยู่เสมอ เพื่อให้ได้พุ่มที่แน่น ขนาดใบเล็กลง ให้ผิวสัมผัสที่สวยงามมากขึ้น รูปทรงที่นิยมตัดแต่งก็มีหลายรูปทรง เช่น สี่เหลี่ยมหรือพุ่มกลม หากทำรั้วควรตัดแต่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมที่ด้านบนสอบเล็กน้อย เพื่อให้กิ่งก้านและใบส่วนล่างได้รับแสงแดดทั่วถึง พุ่มจะได้แน่น โดยมีเทคนิคการตัดง่ายๆ คือ ปักเสากำหนดขอบเขตความกว้างของทรงพุ่ม ขึงเชือกให้ได้ระดับความสูงที่ต้องการตัดแต่ง หรือทำแม่แบบไม้ เพื่อกำหนดเป็นรูปทรงในการตัดแต่ง การตัดแต่งควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เช่น ในฤดูร้อนและฤดูหนาว เว้นระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนในฤดูฝน ต้นไม้โตเร็วอาจต้องดูแลบ่อยขึ้น หรือทุก ๆ 10 วัน
แถมท้ายด้วยเทคนิคการปลูกไม้เลื้อยพรางกำแพงให้สวยงามและไม่รกรุงรัง ซึ่งทำได้โดยเสริมอุปกรณ์ช่วยพรางกำแพงก่อนปลูกไม้เลื้อย เช่น
1.ฝังห่วงร้อยลวดหรือเชือกไนลอน เหมาะกับไม้เลื้อยที่โตเร็ว เช่น การเวก กระดังงาจีน ลวดต้องเส้นใหญ่และรับน้ำหนักได้ หรือฝังห่วงให้ถี่ขึ้นและร้อยลวดสลับไปมา จะได้ตาข่ายที่ถี่ ปลูกไม้เลื้อยเนื้ออ่อนได้
2.ใช้ลวดตาข่ายที่มีขายทั่วไป ใช้นอตยึดห่วงหรือตอกหมุดเป็นจุดๆ เหมาะกับต้นไม้ที่มีรากพิเศษ เช่น ตีนตุ๊กแก โดยลวดตาข่ายจะช่วยป้องกันการชอนไชทำให้ผนังรั้วร้าวหรือกะเทาะเสียหาย
ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 4 “ไม้ประดับรั้ว” โดยวาสนา พลายเล็ก สำนักพิมพ์บ้านและสวน
สงวนสิทธิ์ โดยบมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยวิธีอื่นใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต