ทองกวาว ไม้ต้นขนาดกลาง ดอกสีแสดแดงหรือสีเหลืองอร่าม ต้นไม้มงคล ที่คนไทยโบราณเชื่อว่า หากปลูกไว้ประจำบ้านจะทำให้บ้านนั้นมีเงินมีทองมาก เนื่องจากทรงพุ่มค่อนข้างใหญ่ เมื่อปลูกประดับบริเวณบ้านหรืออาคาร ควรเว้นให้มีระยะห่างเหมาะสม
ก๋าว / จาน / จอมทอง / ทองกวาวต้น / ทองต้น / ทองธรรมชาติ / ทองพรมชาติ / Bastard Teak / Bengal Kino / Flame of the Forest
ชื่อวิทยาศาสตร์: Butea monosperma (Lam.) Kuntze
วงศ์: Fabaceae
ประเภท: ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ
ลำต้น: สูง 10-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งคดงอ เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ สีเทาถึงเทาคล้ำ เปลือกด้านในสีแดง เรือนยอดรูปทรงไม่แน่นอน มักเป็นทรงกระบอกหรือทรงกลม ปลายกิ่งห้อยลง
ใบ: ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางรูปมนกว้างเกือบกลม ใบย่อยด้านข้างทั้งสองใบมีโคนและกลางใบกว้าง แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก
ดอก: ดอกออกเป็นช่อแน่นที่ปลายกิ่งและกิ่งข้าง ช่อดอกยาว 5-8 เซนติเมตร ดอกรูปดอกถั่ว สีแสดแดงหรือสีเหลือง กลีบเลี้ยงสีเขียวเข้ม มีขนนุ่
ผล: ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน ยาว 10-15 เซนติเมตร ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลืองมีขนนุ่ม มี 1 เมล็ดตรงปลายฝัก
ดิน: ดินร่วนซุย ทนดินเค็ม
แสงแดด: เต็มวัน ทนแล้งและอากาศหนาวได้ดี ปลูกริมทะเลได้
น้ำ: ปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
การใช้งานและอื่นๆ : ต้นไม้มงคล นิยมปลูกลงแปลงปลูก ประดับบริเวณบ้านและสวน ส่วนต่าง ๆ ของต้นมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น ดอกใช้ต้มน้ำดื่ม ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ หรือนำน้ำมาผสมยาหยอดตา แก้โรคตามัวหรือเจ็บตา ใช้ตำพอกที่แผล นอกจากนี้ดอกใช้ย้อมผ้า ให้สีแดง ส่วนใบสดใช้ตากมะม่วงกวนหรือใช้ห่อของ ตำพอกฝีและสิว แก้ริดสีดวงทวาร ถอนพิษแก้ปวด ใช้เข้ายาบำรุงกำลัง
เกร็ดน่ารู้: มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ในธรรมชาติพบตามที่ราบลุ่มในป่าผลัดใบ ป่าหญ้าที่แห้งแล้งทางภาคเหนือของไทย ส่วนภาคอื่นพบกระจัดกระจายทั่วไป ยกเว้นภาคใต้
ติดตามหนังสือใหม่ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน