สกุลอโกลนีมา (Aglaonema)

สกุลอโกลนีมา (Aglaonema)
สกุลอโกลนีมา (Aglaonema)

สกุลอโกลนีมา (Aglaonema) ชื่อสกุลมาจากภาษากรีกสองคำ คือคำว่า aglaos แปลว่า สว่างสดใส และ nema แปลว่า เส้น สื่อถึงลักษณะของเกสรเพศผู้ที่เกาะอยู่บนปลีดอก กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบตามป่าชื้น มีมากกว่า 25 ชนิด

สกุลอโกลนีมา (Aglaonema)

ลักษณะเด่น

ทุกส่วนอวบน้ำ มีรากฝอยอวบอยู่ใต้ดิน ลำต้นเหนือดินเป็นลำ เห็นข้อปล้องชัดเจน อาจตั้งตรง หรือทอดเลื้อย ใบเดี่ยวออกเวียนรอบต้น มีรูปทรง ลวดลายสีสันแตกต่างกัน ช่อดอกเป็นช่อเชิงลดมีกาบ มีดอกเพศผู้จำนวนมากอยู่ด้านบนของปลีดอกซึ่งมีทั้งที่สมบูรณ์และเป็นหมัน และดอกเพศเมียที่สมบูรณ์อยู่ด้านล่าง เมื่อติดผลจะกระจุกอยู่ที่ปลายก้าน ผลรูปรี เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นส้มหรือสีแดง เนื้อนุ่มภายในมี 1 เมล็ด

การปลูกเลี้ยง

ในเมืองไทยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายมาแต่อดีต ในความเชื่อของว่านที่เป็นไม้มงคล เช่น เขียวหมื่นปี ที่นิยมปลูกใส่กระถางตั้งไว้หน้าบ้าน ระเบียงบ้าน เพื่อให้โชคลาภเจ้าของและมีสุขภาพแข็งแรง อโกลนีมาควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงช่วงครึ่งวันเช้า หรือตำแหน่งที่มีร่มเงาของไม้ใหญ่ ไม่ควรปลูกในที่ร่มเกินไป เพราะจะทำให้ต้นยืดและดูเก้งก้าง ดินปลูกควรชุ่มชื้นอยู่เสมอแต่ไม่แฉะเกินไป ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำยอด หรือแยกกอ

สกุลอโกลนีมา (Aglaonema)

ปัจจุบันมีอีกชื่อหนึ่งว่า แก้วกาญจนา ซึ่งเป็นชื่อที่ชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับ 2000 ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตตั้งชื่อใหม่จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2549 (ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ให้ชื่อใหม่ว่า “แก้วกาญจนา” ซึ่งมีความหมายว่า งดงามสว่างไสวและสุกสว่างดุจดั่งทอง ตามลักษณะและสีสันบนใบของลูกผสมที่นักปลูกเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์ขึ้นที่แตกต่างจากเดิม มีทรงต้นขนาดเล็ก ก้านใบสั้น ทนต่อโรคแมลงและเติบโตได้ดีในสภาพแสงน้อย เหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง และมีการศึกษาพบว่าอโกลนีมาเป็นพืชที่ดูดซับสารฟอร์มาลีน (Formaldehyde) ในอากาศได้ดี ปัจจุบันจึงนิยมนำมาปลูกในบ้าน หรือเป็นไม้ประดับสวนกันมากขึ้น ทั้งยังมีความหลายหลายของรูปทรงและสีสันของใบอีกมากมาย

ติดตามหนังสือใหม่ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน