อย่าให้เรื่องปลวกๆ มากวนใจ

มาทำความรู้จักและ วิธีกำจัดปลวก

ปลวกเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนุ่ม มีสีขาวขุ่นไปจนถึงสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแก่ ในโลกนี้มีปลวกอยู่ประมาณ 2,000 ชนิด ทั้งที่บินได้ บินไม่ได้ อยู่ใต้ดิน ทำรังในต้นไม้หรือไม้แห้ง ฯลฯ ส่วนใหญ่ชอบกัดกินเนื้อไม้ สามารถเดินผ่านคอนกรีตซึ่งเป็นส่วนล่างของอาคารไปตามผนัง รอยร้าว ที่ว่างหรือรอยต่อขึ้นไปทำลายโครงสร้างไม้ที่อาคารชั้นบน แต่จะไม่เดินผ่านวัสดุที่เป็นกระจก โลหะและพลาสติก เราจึงต้องหา วิธีกำจัดปลวก

ชนิดของปลวก แบ่งตามลักษณะการอยู่อาศัยคือ

  1. ปลวกในเนื้อไม้ พวกนี้สร้างรังหรือทางเดินอยู่ในไม้ตลอดชีวิต แบ่งเป็น
  • ปลวกไม้เปียก เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ในไม้ที่มีความชื้นสูง หรือไม้ผุที่อยู่ในที่อากาศเย็น
  • ปลวกไม้แห้ง เป็นปลวกที่อาศัยในที่แห้งแล้งหรือมีความชื้นเพียงเล็กน้อย มักพบตามไม้แห้งหรือตากแดดจนแห้งแล้ว ปลวกพวกนี้ทำความเสียหายให้บ้านเรือนมาก โดยเฉพาะไม้ที่ใช้งานมานาน เป็นปลวกที่ไม่ทำทางเดินด้วยดิน จึงมองไม่เห็นตัว แต่จะพบขี้ก้อนกลมๆ เล็กๆ กองอยู่ที่โคนเสาหรือไม้ที่เข้าทำลาย
  1. ปลวกในดิน พวกนี้สร้างรังในดินหรือส่วนที่ติดกับดิน เช่น ตอไม้แห้ง ท่อนที่วางบนดิน หรือเสาไม้หรือไม้ในบ้าน อาคารที่ตั้งอยู่บนดิน แบ่งเป็น
  • ปลวกใต้ดิน จะเจาะพื้นดินลงไปทำรังอยู่ใต้ดิน หรืออยู่ในบริเวณไม้ที่อยู่ติดดิน รังมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ หาอาหารเหนือพื้นดิน สร้างทางเดินด้วยดิน ปลวกชนิดนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้
  • ปลวกที่สร้างจอมปลวก อาศัยอยู่บนดิน สร้างรังด้วยน้ำลายและมูลดินซึ่งแข็งแรงมาก
  • ปลวกที่ทำรังด้วยเศษไม้หรือเยื่อไม้ มีลักษณะค่อนข้างกลม ดูคล้ายรังต่อหรือแตน ติดอยู่ตามกิ่งไม้ โพรงไม้หรือขอนไม้

pest01ตรงไหนในบ้าน ที่ปลวกชอบ

  • ขอบบัวของพื้นอาคาร หากมีปลวกจะมองเห็นทางเดินทำด้วยดินหรือเศษไม้โผล่ออกมา
  • พื้นไม้กระดานหรือปาร์เกต์ ในกรณีที่พื้นอาคารชั้นล่างโปร่ง ปูด้วยไม้กระดานธรรมดา มักถูกปลวกรบกวนมาก บ้านที่ใช้งานมานานจะตรวจดูง่ายกว่าบ้านปลูกใหม่ ให้ใช้วิธีเดินแล้วขย่มตัวเบาๆ ถ้าเป็นปาร์เกต์จะยุบตัว
  • ใต้บันไดและห้องเก็บของ ซึ่งมักจะมืดและเงียบสงบ เพราะไม่ค่อยได้ใช้งาน
  • เสาและมุมห้อง เป็นรอยต่อที่ปลวกเข้าไปทำลายได้มาก โดยเฉพาะเสาไม้ที่ไส้กลางแตกหรือแยกเป็นร่อง
  • ฝ้าเพดานที่ทำจากแผ่นไม้อัดและคร่าวเพดานที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน
  • ฝาผนังสองชั้นที่มีคร่าวเป็นไม้เนื้ออ่อน
  • พื้นดินรอบๆ บ้านและสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะบริเวณที่ถมสูงพ้นระดับน้ำท่วม จะเป็นแหล่งสร้างรังปลวกใหม่

การป้องกัน – วิธีกำจัดปลวก

1.การป้องกันในระหว่างการก่อสร้าง โดยทำความสะอาดบริเวณที่ปลูกสร้าง เก็บเศษไม้ต่างๆ หรือวัสดุที่จะเป็นอาหารปลวกออกให้หมด การออกแบบพื้นอาคารควรโปร่ง ระบายอากาศได้ดี และใช้ไม้ที่ผ่านการอาบน้ำยาป้องกันและรักษาเนื้อไม้ ใช้ยาเคมีที่มีฤทธิ์คงทนสูงวางเป็นแนวป้องกันใต้พื้นอาคารโดยรอบ
2. การป้องกันเมื่ออาคารปลูกเสร็จแล้ว มักทำภายหลังเมื่อพบปลวกแล้ว ซึ่งจะใช้วิธีวางยาเคมีในจุดต่างๆ ดังนี้

  • การใช้เข็มและหลอดฉีดยา ฉีดน้ำยาเข้าไปในโครงสร้างที่มีปลวกกัดกิน เช่น ใต้พื้นปาร์เกต์ คร่าวฝาสองชั้น ไส้กลางเสาไม้  ขอบวงกบประตู หน้าต่าง ในกรณีที่โรยเคมีได้ จะใช้ผงเคมีโรยในทางเดินของปลวกตามแนวขอบบัว ฐานและด้านข้างของวงกบประตู ท่อทางเดินสายไฟ ฝ้าเพดานทุกระยะ 30-100 เซนติเมตร ผงเคมีนี้จะติดตัวปลวกไปทำให้ตายยกรัง ส่วนน้ำยาเคมีนั้นจะทำให้ปลวกตายทันที
  • การฝังเคมี  ใช้กับอาคารที่ยกพื้นสูง ด้วยวิธีฝังหรืออัดน้ำยาไปตามแนวคานด้านในและรอบเสา ในอัตราส่วนที่ผสมน้ำแล้ว 5-7 ลิตรต่อความยาว 1 เมตร อัดฝังทุกระยะ 1 เมตร
  • การราดน้ำยา เคลือบภายในใต้ถุนทั้งหมด ทำหลังจากอัดน้ำยาตามแนวคานด้านในแล้ว โดยใช้หัวฉีดชนิดเคลือบผิวดินฉีดภายในใต้ถุนทุกตารางนิ้ว
  • การฝังหรืออัดน้ำยา ตามแนวคานด้านนอก โดยใช้สว่านเจาะพื้นให้ทะลุถึงชั้นดิน ห่างกันรูละ 1 เมตร อัดน้ำยาลงไปแล้วใช้ซีเมนต์อุดรูไว้

3. การเจาะพื้นและฝังน้ำยา ใช้ในอาคารที่เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบนคานคอดิน ทุกระยะ 1 เมตร หลังจากนั้นจึงตกแต่งพื้นให้เหมือนเดิม

นอกจากนี้ยังมีการกำจัดปลวกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้น้ำยาโฟมอัดลงไปฆ่าปลวกและอุดช่องว่างต่างๆ เพื่อไม่ให้ปลวกขยายพันธุ์ การใส่หินแกรนิตและบะซอลต์บดละเอียดลงบนดินก่อสร้างบ้าน และการใช้ราเขียว เป็นต้น


Note :

  • การอัดน้ำยา คือการเจาะรูลึก 30-45 เซนติเมตร จากนั้นสอดสายน้ำยา ใช้ปั๊มแรงดันสูงอัดน้ำยาให้แทรกซึมเข้าไปในเนื้อดิน
  • พื้นที่ 1 ตารางเมตรใช้น้ำยา 5 ลิตร ความเข็มข้นของน้ำยาอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซนต์
  • น้ำยาที่ใช้กำจัดปลวกได้แก่ เลนเทร็ค 400 อีซี, สเตดฟาสต์ 8 เอสอี, ลิคเทนทีซี และเดมอนทีซี ทั้งหมดได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ยานี้ไม่ละลายน้ำ จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต