หน้าวัวใบ ไม้ใบสวย เลี้ยงง่าย
พอเอ่ยถึง “หน้าวัว” หลายคนอาจคุ้นเคยกับดอกไม้ที่มีหน้าตาเหมือนใบไม้ สีแดง ชมพู ขาว ที่มีปลีดอกงอกออกจากกึ่งกลางดอก ที่จริงยังมีหน้าวัวอีกกลุ่มหนึ่งที่มีใบสวยงามสะดุดตามากกว่าดอก เรียกกันว่า “หน้าวัวใบ”
หน้าวัวใบมีรูปแบบใบและขนาดต้นที่หลากหลาย จึงนิยมปลูกเป็นไม้กระถางประดับตกแต่งภายในบ้านเรือน เพื่อบดบังมุมที่ดูไม่สวยงาม อับทึบ หรือปลูกประดับตกแต่งสวนในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือ ภาชนะที่ใช้ควรมีขนาดและรูปทรงที่เหมาะกับสไตล์บ้านหรือสวนนั้น ๆเช่น สวนสไตล์อังกฤษ สามารถนำหน้าวัวใบที่มีทรงพุ่มแผ่กว้างมาปลูกในกระถางดิน เพื่อสร้างจุดเด่นให้สวน แต่ถ้าต้องการปลูกลงดินควรปรับสภาพดินให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของหน้าวัวใบ อีกทั้งควรเลือกพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องการสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังตัดใบมาใช้ปักแจกันร่วมกับไม้ประดับอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ทำความรู้จักหน้าวัวใบ
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา วงการไม้ประดับในบ้านเราได้รับความนิยมมาก นักปลูกเลี้ยงไม้ประดับรุ่นบุกเบิกหลายท่าน เช่น สิทธิพร โทณวนิก อาทร หิญชีระนันทน์ ดิลก มักอุส่าห์ และ สุรัตน์ วัณโณ ได้นำไม้ประดับจากต่างประเทศเข้ามาปลูกเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง หน้าวัวใบ ก็เป็นไม้ใบประดับอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บุคคลสำคัญที่ทำให้หน้าวัวใบเป็นที่รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในเมืองไทย คือ อาจารย์สุรัตน์ วัณโณ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หน้าวัวใบเป็นพืชสกุล Anthurium อยู่ในวงศ์ Araceae (Arum Family) มีชื่อสามัญว่า Flamingo Flower หรือ Tail Flower แต่นิยมเรียกกันว่า Anthurium ตามชื่อสกุล ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า anthos แปลว่า ดอก กับคำว่า ouros แปลว่า หาง หมายถึง ช่อดอกที่มีปลีดอกเรียวยาว
หน้าวัวใบ กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ ค้นพบแล้วเกือบ 1,000 ชนิด ในธรรมชาติอิงอาศัยอยู่กับไม้ใหญ่หรือพื้นที่ชุ่มชื้น เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ไม่มีเนื้อไม้ มีรากอวบอ้วนออกตามข้อใบ มีวีลาเมน (velamen) ห่อหุ้มที่ปลายราก ช่วยให้ดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดี เมื่อมีอายุมากขึ้นจะแข็งและเหนียว ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม มีทั้งลำต้นเดี่ยว ข้อสั้น เจริญเป็นกอ และชนิดที่มีข้อห่าง ลำต้นทอดเลื้อย เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นมักทิ้งใบช่วงล่างพร้อมแตกหน่อใหม่ ปลีดอกที่เรียวยาวของหน้าวัวใบ
ใบ
ใบเดี่ยว มีหลายแบบ ทั้งรูปหัวใจรูปใบหอก รูปรี รูปไข่กลับ รูปสามเหลี่ยมหรือหยักเว้าเป็นแฉกคล้ายใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเวียนสลับรอบต้น แผ่นใบสีเขียวเป็นมันเหลือบเงิน หรือเป็นกำมะหยี่บางชนิดแผ่นใบแข็งหนาเหมือนแผ่นหนังเส้นใบย่อยมักโค้งขนานกับขอบใบก้านใบกลม อาจมีร่องตลอดความยาวใบเมื่อตัดตามขวางเป็นรูปกลม รูปหัวใจหรือรูปพระจันทร์เสี้ยว บางชนิดก้านใบเหลี่ยม เมื่อตัดตามขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยม หรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมูบางชนิดก้านใบมีครีบบางเล็ก ๆตลอดความยาวใบ บริเวณปลายก้านที่ต่อกับแผ่นใบมักโป่งออก เมื่อยังโตไม่เต็มที่จะเปราะหักง่าย ใบแก่แข็งบางชนิดเหนียวหักยาก รูปใบแบบต่างๆของหน้าวัว
ดอก
ออกจากซอกกาบใบ เรียกว่า Tail Flower มีช่อดอกที่เรียกว่าปลีดอก (spadix) และจานรองดอก (spathe) ลักษณะเป็นแผ่นรูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก มีสีเขียว สีเขียวอมแดง หรือสีเขียวอมม่วง ดูไม่สะดุดตา บางชนิดมีสีสันที่ดูสวยงามสะดุดตาเรียกว่า หน้าวัวดอก ปลีดอกแต่ละช่อประกอบ ด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสมบูรณ์เพศทยอยบานจากโคนไปยังปลายช่อ เกสรเพศผู้บานพร้อมผสมก่อนเกสรเพศเมียโอกาสในการผสมเกสรข้ามต้นจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
ผล
มีเนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม แต่ละผลมีเพียง1 เมล็ดหรือหลายเมล็ด รูปรี รูปขอบขนานหรือรูปกลม
สำหรับหน้าวัวใบสายพันธุ์ต่างๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก Plant Library
การปลูกเลี้ยง
วัสดุปลูก ควรเป็นวัสดุที่เก็บความชื้นได้ดี โปร่ง ระบายน้ำได้ดี ย่อยสลายช้า หาง่าย ราคาถูก ที่นิยมใช้กันมากคือ กาบมะพร้าวสับที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว 5 – 7 วัน หรือผสมกับดินใบก้ามปูอัตราส่วน 1 : 1 ก็ได้
แสงแดด หน้าวัวใบต้องการแสงแดด 50 เปอร์เซ็นต์ หรือได้รับแสงแดดในช่วง ครึ่งวันเช้า หากได้รับแสงแดดมากเกินไป ใบจะหยาบกร้านและเป็นรอยไหม้ในที่สุด แต่ถ้าพื้นที่ปลูกร่มเกินไป ใบจะมีสีเขียวเข้มก้านใบยืดยาว ทรงต้นไม่สวยงาม
น้ำ ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าก่อน 10.00 น. และช่วงเย็น โดยเฉพาะในฤดูร้อน ควรฉีดพ่นน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงบ่าย เพื่อให้มีความชื้นในอากาศสูงขึ้น
ปุ๋ย นิยมให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเสมอ 3 เดือน เช่น 14-14-14 อาจให้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ สูตรเสมอฉีดพ่นทางใบก็ได้
โรค แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด หน้าวัวใบมักไม่พบปัญหามากนัก อาจพบอาการใบไหม้บ้างในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวซึ่งมีแสงแดดจัด ทำให้ใบหยาบกร้านจนเกิดรอยไหม้ได้ สำหรับแมลงศัตรูที่พบได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยเกล็ด และเพลี้ยแป้ง ที่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบ และอาจพบหนอนที่คอยกัดกินใบอ่อนเป็นรอยแหว่ง หากพบเพียงเล็กน้อยก็ใช้วิธีเก็บตัวไปทำลาย หากพบมากจึงฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนที่อากาศชื้นแฉะมักพบหอยทากกัดกินใบ มักพบตัวในช่วงเช้า ควรหมั่นเก็บตัวออกไปทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ต่อไป
แหล่งจำหน่ายหน้าวัวใบ
1. บ้านก้ามปู กรุงเทพฯ โทร. 08-1910-0913
2. บ้านสวนไม้งาม จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ 08-6009-6673, 08-9402-3844
3. สวนเกตุมงคล จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์ 08-1482-9279, 08-9697-9886
4. สวนพุด สุทธิพันธุ์ จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ 08-9153-0319, 08-9613-6872
5. สวนสีทอง 3 จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์ 08-1647-9415, 08-1763-4180
6. สวนสำราญ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 08-1934-0446
หมายเหตุ หมายเลขโทรศัพท์อาจเปลี่ยนแปลง กรณาตรวจสอบอีกครั้ง
ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 5 “หน้าวัวใบ” โดย อุไร จิรมงคลการ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
สงวนสิทธิ์ © บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามดัดแปลง แก้ไขหรือพิมพ์เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต