ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก เป็นไม้ต้น นิยมปลูกประดับเพื่อให้ร่มเงา ยอดอ่อนและช่อดอกเก็บกินได้ตลอดปี มีมากช่วงปลายฤดูฝน คนโบราณนิยมใช้ใบขี้เหล็กมาบ่มมะม่วง และในรากขี้เหล็กยังช่วยตรึงไนโตรเจนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นด้วย

ขี้เหล็ก
ใบอ่อนและดอกขี้เหล็กตูมมีรสขมมันอร่อยกว่าดอกบาน

ขี้เหล็ก / ขี้เหล็กบ้าน / ขี้เหล็กหลวง / ผักจี้ลี้ / Cassod Tree /  Thai Copper Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby
วงศ์: Fabaceae
ประเภท: ไม้ต้น
ความสูง: สูงได้ถึง 15 เมตร
ทรงพุ่ม: แผ่กว้าง
ลำต้น: มีเนื้อไม้ เปลือกสีเทาอมน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาว
ใบ: ประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5 – 14 คู่ รูปขอบขนานใต้ใบมักมีขนปกคลุม
ดอก: ผลิได้ตลอดปี ช่อดอกเป็นช่อกระจะออกที่ปลายกิ่งแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ทยอยบาน ดอกสีเหลืองสด เกสรสีน้ำตาลอ่อนหลังกลีบร่วงจะติดฝัก
ผล: แบนยาว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 20 – 30 เมล็ด เมล็ดขี้เหล็กงอกง่ายเพียงได้รับความชื้นเล็กน้อยจะงอกทันที ดังนั้นจึงพบต้นกล้าขี้เหล็กใต้ต้นแม่เสมอ สามารถนำมาปลูกได้
อัตราการเจริญเติบโต: เร็ว
ดิน: ดินร่วนระบายน้ำดี
น้ำ: ปานกลาง ทนแล้งได้ดี
แสงแดด: เต็มวัน
ขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
การใช้งานและอื่นๆ: นิยมปลูกประดับเพื่อให้ร่มเงา  ยอดอ่อนและช่อดอกเก็บกินได้ตลอดปี มีมากช่วงปลายฤดูฝน ต้มจิ้มน้ำพริกหรือทำเป็นแกงต่าง ๆ อาทิ แกงขี้เหล็กใส่ปลาย่าง แกงขี้เหล็กใส่ใบย่านางแกงเลียงของชาวใต้ แกงบวนของชาวเหนือ ดอกตูมและใบอ่อนมีรสขม มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ คนโบราณนิยมใช้ใบขี้เหล็กมาบ่มมะม่วง รากขี้เหล็กช่วยตรึงไนโตรเจนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น

Tips: การต้มขี้เหล็กไม่ให้ขมให้นำมาต้มน้ำทิ้ง 2 – 3 ครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือใช้เทคนิคของชาวอีสาน คือใส่ลูกบักแข้งพา (มะแว้งต้น) ลงไปต้มด้วย จะช่วยลดความขมได้

 

ติดตามหนังสือใหม่ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน