- Home
- ฉบับมีนาคม 2559
ฉบับมีนาคม 2559
สวนลอยฟ้า จากแนวคิด อวตาร
ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิดออก ราวกับสรวงสวรรค์อวตารมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดหลังจากลิฟต์มาถึงยังชั้นดาดฟ้าของอาคารกรมดิษฐ์บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และได้พบสวนสวยแห่งนี้ของ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจและนักเขียนผู้มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ทางเดินพื้นคอนกรีตตกแต่งด้วยกรวดแม่น้ำสลับสีอย่างเป็นธรรมชาติทอดยาวผ่านพรรณไม้ไทยโบราณ อาทิ อินจัน จำปี ชงโค จันทน์กะพ้อและหมากเม่า แทรกไปกับไม้พุ่มทรงสูงอย่างมะเขือต้น แก้วเจ้าจอม และพุดชนิดต่างๆ ซึ่งแผ่กิ่งก้านแตกแขนงออกเป็นทรงพุ่มดูสวยงาม บางต้นยังออกดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปทั่ว โดยมีไม้ระดับล่างอย่างเฟิน คล้า บุก บอน กล้วยไม้ดิน สับปะรดสี และมอสส์ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่รอบโคนต้นจนไม่น่าเชื่อว่าสวนนี้จะอยู่เหนือพื้นดาดฟ้าคอนกรีตของอาคารใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งถมพื้นดินหนาเพียงแค่ประมาณ 15 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้ผมต้องถามถึงเคล็ดลับการดูแลสวนให้ดูอุดมสมบูรณ์ได้นานกว่า 8 – 9 ปีเช่นนี้ คุณวิกรมให้คำตอบว่า “การทำสวนไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ สวนเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราจึงต้องแบ่งเป็นเฟสๆ สวนนี้ไม่ได้มีแปลน ทำไปเรื่อยๆ เฟสแรกคือทดลองปลูกเมื่อก่อนมีมอสส์และเฟินเติบโตได้ดี ถัดมาเราก็ดูว่าอะไรที่ควรจะปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พอมันลงตัวแล้วจะได้รู้และดูแลรักษาให้ดีได้ เฟสสุดท้ายคือเฟสที่ลงตัว ถ้าเราแบ่งการจัดสวนเป็นเฟสจะดูยั่งยืนกว่าการจัดสวนครั้งเดียว เพราะแรกๆ ก็ดูดีแต่หลังๆ อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา” สวนแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามชั่วครั้งชั่วคราว สิ่งสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่พืชพรรณต่างๆ […]
French Cottage Garden กลิ่นอายสวนฝรั่งเศส
สวนในแถบตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นอวลด้วยกลิ่นอายธรรมชาติในโทนสีละมุนตา ภายในแปลงปลูกไม้ดอกผสมผสานไม้ตัดฟอร์มวางแปลงลักษณะกึ่งฟอร์มัล ดูไม่เป็นทางการ ทั้งหมดคือภาพเริ่มต้นก่อนจะแปรเปลี่ยนให้กลายมาเป็นสวนสวยริมแม่น้ำกกภายในร้าน Melt in Your Mouth คาเฟ่บรรยากาศดีเจือกลิ่นอายแบบชนบทฝรั่งเศส จากจุดเริ่มต้นของที่ดินผืนงามริมแม่น้ำกกซึ่งเป็นที่ดินของคุณพ่อ เมื่อ คุณสมบูรณ์ และ คุณพูนสุข รักมนุษย์ สองพี่น้องเจ้าของร้าน คิดจะใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนี้ หลายตัวเลือกก็ตามมา ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะทำเป็นร้านกาแฟบรรยากาศสบายๆ เพราะทั้งสองเป็นคอกาแฟตัวยง “แต่เดิมเวลามาเชียงรายก็ต้องนั่งดื่มกาแฟแบรนด์ตามร้าน แล้วที่นี่ก็เป็นแหล่งปลูกกาแฟด้วย จึงมีความคิดว่าถ้าจะเปิดร้านจะมีความเป็นไปได้ไหม” นั่นคือเรื่องราวเริ่มต้นที่ คุณเปิ้ล – กุลนรี สุรเลิศรังสรรค์ ภรรยาคุณสมบูรณ์ และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของร้านนี้เล่าให้เราฟัง “เราให้โจทย์สถาปนิกว่าอยากใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ได้เต็มที่ ตัวอาคารต้องเปิดมุมมองให้เห็นแม่น้ำเยอะๆเดิมทีดีไซน์เป็นไม้ ดูดิบๆ เพื่อขายกาแฟกับอาหารเหนือไม่กี่เมนู แต่ผู้ออกแบบทักว่าร้านมันใหญ่มากนะสำหรับกาแฟกับอาหารนิดหน่อย ประจวบกับได้รับคำแนะนำจากพี่คนหนึ่งที่เปิดร้านอาหารให้ส่งคนไปเรียนกับเขา ซึ่งเปิ้ลก็ได้เมนูอาหารฝรั่งมาระดับหนึ่งและมีเค้กด้วย จึงมาปรับดีไซน์ร้านใหม่ให้เบาลง เราเปิดหนังสือดูแบบที่ชอบรวมๆ กว่า 10 เล่ม ปรากฏว่าพอชอบรูปไหนก็จะไปในอารมณ์เฟรนช์วินเทจ เป็นแนวฝรั่งเศส ไม่ใช่อังกฤษหรืออเมริกัน “สำหรับสวนเป็นอะไรที่เราไม่มีความรู้เลย บังเอิญมีคนจัดสวนที่เคยร่วมงานกันแนะนำ บี (คุณสุธาทิพย์ ไพบูลย์นันทพงศ์) ซึ่งตอนแรกเราไม่รู้ว่างานบีเป็นอย่างไรแล้วบีก็ชวน นุ่น (คุณอิศรา แพงสี) ซึ่งเขาทำงานเข้าขากันได้ดี […]
บ้านซ่อนตัว
สบาย ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว คือปัจจัยหลักที่เรานึกถึงก่อนจะสร้างบ้านหรือเลือกพื้นที่ส่วนตัว แบบบ้านโมเดิร์น หลังใหญ่ที่ดูน่าค้นหาหลังนี้สะดุดตาตั้งแต่ไกลด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตชุมชนของอำเภอเมืองนครปฐม แต่กลับมีความเป็นส่วนตัวอย่างมากด้วยรั้วปูนเว้นร่องเล็กๆ ที่ดูเท่และไม่ทึบจนเกินไป DESIGNER DIRECTORY ออกแบบ : Backyard Architect เมื่อเข้ามาด้านในก็ยิ่งตื่นเต้น เพราะเราไม่อาจมองเห็นตัว แบบบ้านโมเดิร์น ทั้งหมดได้ จากมุมนี้สร้างความสงสัยว่าถ้าจะเข้าไปในตัวบ้านจริงๆ ต้องเข้าทางไหนกันแน่ คุณมีชัย เจริญพร สถาปนิกจากบริษัท Backyard Architect จำกัด เล่าให้ฟังว่า “เจ้าของบ้านต้องการความเป็นส่วนตัวสูงมาก บนที่ดินผืนนี้ประกอบด้วยบ้านจำนวน 3 หลัง โดยมีคอร์ตกลางเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ทั้งหมด” นอกจากบ้านหลักของเจ้าของบ้านแล้ว บ้านหลังที่สองเป็นบ้านของพี่และน้อง ส่วนหลังสุดท้ายเป็นบ้านคุณพ่อคุณแม่ ตามความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นส่วนตัวด้วย สถาปนิกเสนอให้บีบพื้นที่ของบ้านให้กะทัดรัด และออกแบบให้มีสวนเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน ซึ่งทำให้บ้านดูอบอุ่นขึ้นด้วย คุณมีชัยเล่าต่อไปว่า “เจ้าของบ้านอยากให้แต่ละพื้นที่ของบ้านมีการเล่นระดับและสเต็ปไม่เท่ากัน ผมได้นำโจทย์นี้มาพัฒนาต่อ โดยใช้บันไดเป็นตัวเชื่อม วัสดุหลักเป็นไม้ เพราะดูเรียบง่ายและอบอุ่น” การออกแบบโดยใช้บันไดเป็นตัวเชื่อมอาคารทั้งสามหลังจึงทำให้เกิดพื้นที่ที่ลดหลั่นเป็นสเต็ป ซึ่งช่วยแยกความเป็นส่วนตัวของแต่ละครอบครัว อีกทั้งเป็นตัวบอกพื้นที่การใช้งานได้ดี เช่น บันไดด้านหน้าที่ใช้โครงเหล็กและไม้จริงเป็นระแนงบังสายตาจากภายนอก สร้างความเป็นส่วนตัว และใช้กับบ้านหลังแรกเท่านั้น
บ้านทรงสี่เหลี่ยมหลังคาจั่ว จุดเริ่มต้นของความพอดี
บ้านชั้นเดียว สีขาว หลังนี้ตั้งอยู่ในละแวกเส้นทางแม่ริม – โป่งแยง จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านจัดสรรเก่า แต่ปัจจุบันมีต้นไม้ขึ้นครึ้มจนปิดบังภาพเดิมของหมู่บ้านนี้ไปเกือบหมด คุณทองมา – จำเนียร ทองมา ศิลปินและประติมากรฝีมือเยี่ยม ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ เล่าถึงที่มาของบ้านให้ฟังว่า “ผมเจอที่ดินตรงนี้ ก็เพราะเพื่อนชวนให้มาตกแต่งห้องของเขา ซึ่งก็อยู่ข้างบ้านผมนี่เอง ผมเห็นที่ดินแล้วชอบ เพื่อนก็ชวนให้มาอยู่เป็นเพื่อนบ้านกัน ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน เพราะที่นี่มีสิ่งที่ผมชอบหลายอย่าง เช่น เป็นที่ที่อยู่กลางธรรมชาติ มีป่าและลำธารที่ได้ยินเสียงน้ำไหลรินตลอดเวลา อาจเป็นเพราะว่าผมทำงานที่ค่อนข้างดิบ ๆ จึงอยากอยู่แบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของผมได้ดี ” บ้านชั้นเดียว สีขาว ไม่เกิน 4 เดือน บ้านชั้นเดียว หลังนี้ก็สร้างเสร็จ จากเดิมที่ที่ดินผืนนี้เต็มไปด้วยหญ้าสูงท่วมศีรษะ มีต้นไม้ขึ้นรกชัฏ ก็เปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินพร้อมปลูกที่อยู่อาศัยเหมือนเมื่อครั้งเป็นที่ดินจัดสรรตอนแรกเริ่มโครงการ บนพื้นที่ 1 ไร่ คุณทองมาได้วางแผนล่วงหน้าแล้วว่า จะทำเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะและส่วนพักอาศัย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้กินพื้นที่ประมาณเท่ากัน ด้านริมถนนเป็นส่วนสตูดิโอ ส่วนด้านหลังติดลำธารเล็กๆเป็นบ้านพัก โดยทุกหลังสร้างเป็นอาคารชั้นเดียวสีขาว หลังคาจั่ว ดูสงบและสบายส่วนที่เป็นบ้านพัก วางแปลนเป็นรูปตัวแอล ( L ) […]
The Neverland of Andra Matin ระหว่างพื้นที่กับการเดินทาง
เมื่อเดินผ่านประตูรั้วด้านหน้าบ้านเข้าไปเราจะพบทางเดินไม้ลอยอยู่เหนือสระน้ำ ขนาบด้วยกำแพงดินที่มีมอสส์และเฟินแทรกอยู่เป็นระยะ ร่องไม้ที่ชั้นบนเว้นที่ว่างให้แสงสว่างลอดผ่านลงมาสะท้อนกับผืนน้ำดูระยิบระยับไปทั่วบริเวณ ปลาคาร์พตัวเขื่องว่ายน้ำลอดจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่ง แดดจัดจ้าของประเทศอินโดนีเซียช่วยเติมเต็มความสดใสให้บ้านหลังนี้ได้อย่างเหลือเฟือ Mr. Andra Matinเจ้าของและผู้ออกแบบบ้าน AM House หลังนี้ยิ้มต้อนรับและผายมือเชิญเราเข้าสู่ภายในบ้าน เขาพาเราเดินขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านซึ่งจัดวางโต๊ะยาวขนาด 4 – 5 เมตร เพื่อใช้รับแขก จากตรงนี้เรามองเห็นอาคารคอนกรีตสมัยใหม่ที่เปิดโล่งและมีพื้นที่อเนกประสงค์คล้ายบ้านใต้ถุนสูงอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร แล้วบทสนทนาระหว่างเรากับคุณอันดราก็เริ่มขึ้น “ผมเริ่มก่อสร้างบ้านหลังนี้ในปีค.ศ. 2008 เริ่มจากโครงสร้างหลักคือกล่องปูนเปลือยยกสูงอย่างที่เห็นเมื่อบ้านค่อยๆก่อร่างขึ้นก็ทำให้ผมเห็นรายละเอียดที่ควรใส่เพิ่มลงไปจึงใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าบ้านทั่วไปแต่การค่อยๆคิดและถักทอพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่ลงตัวกับผมและครอบครัวอย่างแท้จริงบ้านหลังนี้เสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2013 ใช้เวลารวม 5 ปีพอดี” คุณอันดราเป็นเจ้าของสำนักงานออกแบบ Andramatin และถือเป็นสถาปนิกรุ่นบุกเบิกที่เปิดรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างอิสระในประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เขาใส่ใจที่สุดก็คืองานออกแบบที่สอดรับกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศนี้ บริษัทของเขาจึงเป็นผู้นำด้านงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล ดังจะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้แทบไม่ใช้เครื่องปรับอากาศเลย มีเพียงสองจุดเท่านั้นคือห้องน้ำที่ชั้นใต้ดินซึ่งต้องใช้เครื่องกำจัดความชื้นและในห้องนอนชั้นบน นอกเหนือจากนั้นล้วนพึ่งพาพลังจากธรรมชาติทั้งสิ้น และอีกเรื่องหนึ่งที่คุณอันดราสนใจก็คือการออกแบบพื้นที่ “ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่มากกว่ารูปทรง” คุณอันดราอธิบายหลักการออกแบบพื้นที่ซึ่งใช้กับทุกงานออกแบบของเขาแม้แต่กับบ้านหลังนี้ “ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ (Spatial Relationship) ต้องมองไปถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมากกว่าการมองแบบเป็นห้องสี่เหลี่ยม เพราะในความเป็นจริงกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะนั่งนอนเดินหรือยืนต่างก็มีพื้นที่ ‘ระหว่างกัน’ทั้งสิ้นเมื่อคิดได้ดังนี้รูปทรงก็จะออกมาต่างอย่างที่ควรจะเป็นสามารถออกแบบร่วมกับเรื่องภูมิอากาศและการอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม” คำอธิบายข้างต้นพอทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมบ้านหลังนี้จึงมีรูปทรงแปลกตาและชวนให้แปลกใจทุกครั้งที่ก้าวผ่านจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง “ผมชอบการเดินทางบ้านของผมก็เลยให้ความรู้สึกของการเดินทาง” การเปลี่ยนผ่านแต่ละพื้นที่ของบ้าน AM House เปรียบได้กับการผจญภัยย่อมๆ ทั้งทางเข้าที่เดินทะลุขึ้นมายังเนินดินก่อนเข้าสู่พื้นที่รับแขกที่ลัดขึ้นบันไดเวียนสู่สวนดาดฟ้าได้ หากเดินจากพื้นลาดอีกด้านหนึ่งก็จะแยกออกไปยังเรือนเล็กของคุณอันดรา แล้ววนกลับเข้ามาที่ห้องของลูกๆ ห้องทำงานชั้นล่างยังมีประตูซ่อนอยู่หลังชั้นหนังสือเพื่อออกไปยังห้องละหมาดและห้องน้ำได้อีกด้วย […]
โอบล้อมด้วยแสงใน บ้านไทย สไตล์มินิมัล
นับเป็นโชคดีของเราที่วันนี้อากาศดี ไม่ร้อนจัดและแสงแดดไม่แรงจนเกินไป เหมาะแก่การถ่ายภาพบ้านเป็นอย่างยิ่ง บ้านที่เรามาเยือนในครั้งนี้เป็นเรือนหอ บ้านไทย สไตล์มินิมัลของ คุณจุ๊บ – ศศธร ภาสภิญโญ และ คุณรินทร์ – ภัทรกานต์ เศรษฐชยั ตั้งอยู่ในย่านพัฒนาการ บนพื้นที่ 100 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินเดิมของครอบครัวคุณจุ๊บ บ้านที่มีไอเดียในการจัดการกับแสงสว่างได้อย่างน่าสนใจ “เริ่มแรกเราอยากได้บ้านไทยสไตล์มินิมัล กล่าวคือมีโถงทางเดินอยู่ตรงกลางบ้านเหมือนบ้านไทย แต่การตกแต่งต้องดูเรียบ มีแฝงอารมณ์แบบญี่ปุ่นนิดๆ และเปิดรับแสงธรรมชาติได้รอบบ้านโดยที่ต้องไม่เพิ่มความร้อนให้บ้านด้วย เราสองคนชื่นชอบการอ่านหนังสือและมักเก็บภาพสไตล์การตกแต่งบ้านไว้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านของเรา” คุณจุ๊บเกริ่นนำให้เราฟัง การหาไอเดียจากหนังสือประกอบกับเคยเรียนด้านสถาปัตยกรรม จึงสเก็ตช์ภาพบ้านแบบคร่าวๆ พร้อมบอกความต้องการหลักให้ คุณวิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ สถาปนิกนำไปออกแบบต่อ ใน บ้านไทย หลังนี้ จากที่จอดรถ ผู้ออกแบบทำทางเดินรอบบ่อปลาคาร์พ ก่อนจะนำเข้าไปสู่ตัวบ้าน การออกแบบดังกล่าวสร้างบรรยากาศแห่งการเชื้อเชิญ เปรียบเสมือนการต้อนรับจากเจ้าของบ้าน รอบบริเวณบ้านยังปลูกต้นไม้นานาพรรณดูร่มรื่น สร้างความรู้สึกสดชื่นได้ดีก่อนเข้าไปสู่ภายในบ้าน ซึ่งสิ่งแรกที่พบคือโถงนั่งเล่นแบบดับเบิลสเปซที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย สะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้านทั้งสองที่ชื่นชอบความสบายและเป็นกันเอง ผู้ออกแบบใช้โถงบันไดกลางบ้านเป็นจุดเชื่อมโยงทุกพื้นที่ใช้งานตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ผนังที่ขนาบโถงนี้ทั้งสองด้านเป็นปูนเปลือย ดูเท่และทันสมัยแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบผสมผสานกับการเลือกใช้ไม้และไม้วีเนียร์ เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่ดูสะอาดตา โถงบันไดนี้ยังแบ่งบ้านเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วยส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร […]