เรือนไม้หลังงามจากยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย

มีคนเคยพูดว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสากล ซึ่งอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของศาสนา เชื้อชาติ และกาลเวลาเสมอ” บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยยืนยันได้อย่างดี ด้วยรูปแบบการสร้างที่มีกลิ่นอารยธรรมทั้งจากตะวันตกและอิสลามผสมผสานกัน แสดงถึงลักษณะงานศิลปะในรัชสมัยรัชกาลที่ 4-6 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมในประเทศไทย เจ้าของ: คุณชัยรัตน์ – คุณนาตยา สมันตรัฐ   บ้านไม้โบราณ หลังนี้เปี่ยมด้วยเรื่องราวความผูกพันอันยาวนานเกือบร้อยปี ซึ่งบอกเล่าโดยลูกหลานผู้สืบเชื้อสายมาจากหลวงโกชาอิศหาก ต้นสกุลของเจ้าของบ้านหลังนี้ “เดิมพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ซึ่งเป็นคุณพ่อรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดสตูล แต่มาซื้อที่และปลูกบ้านหลายหลังเพื่อให้ลูกหลานอยู่รวมกันได้เรียนหนังสือและใช้เป็นที่รับรองแขกในกรุงเทพฯ เลยได้วิ่งเล่นในบ้านหลังนี้มาตั้งแต่ยังเล็ก” ด้วยเชื้อสายที่เป็นชาวมุสลิมจากทางภาคใต้ ประกอบกับบ้านหลังนี้สร้างขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการใช้ลักษณะของศิลปะผสมผสานกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการสร้างและตกแต่ง โดยการฉลุเป็นลวดลายแบบแขกมัวร์ (Mauresque Art) และแบบลายขนมปังขิง อันเป็นเอกลักษณ์งานไม้แห่งอิสลาม โดยเน้นลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบทรงเรขาคณิตเป็นหลัก ติดตามบริเวณต่างๆรอบบ้าน ทั้งขอบกันสาดของส่วนที่ยื่นออกมาเหนือประตู หน้าต่าง แผ่นไม้ที่ติดระหว่างช่วงเสา ขอบชายคาโดยรอบบ้าน สันหลังคา หน้าจั่ว มุขหน้า ขอบลูกกรงระเบียง และส่วนกันแดดตอนบนของระเบียง ส่วนที่ติดเพดาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในบ้าน ด้วยการออกแบบโครงสร้างมีประตูหน้าต่างมากมาย และเจาะช่องลม ทั้งบริเวณใต้หลังคา ส่วนที่เป็นกรอบอยู่เหนือหน้างต่างประตู และตอนบนของผนังที่อยู่ใต้ฝ้าเพดานลงมา เพื่อให้ลมผ่านและช่วยระบายความร้อนใต้ฝ้าออกไป “การฉลุไม้ลวดลายแบบแขกมัวร์ (Mauresque Art) […]