บ้านยกพื้น – บ้านและสวน

THP House บ้าน Tropical Modern กลางสวนป่าส่วนตัว

บ้าน กลางป่าปลูกส่วนตัวบนเนื้อที่ 12 ไร่ ในจังหวัดนครปฐมที่นั่งอยู่มุมไหน ก็กลมกลืนไปกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว #องค์ประกอบพื้นถิ่นในภาษาโมเดิร์นบ้านสวนหลังนี้ ออกแบบด้วยวิธีคิดแบบสมัยใหม่ แต่ใช้องค์ประกอบแบบบ้านพื้นถิ่นเข้ามาช่วยให้พื้นที่ชีวิตของบ้านนั้นสามารถใช้งานร่วมกับบริบทธรรมชาติโดยรอบอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้าจั่วที่รับลมระบายความร้อนออกจากตัวบ้าน หรือชายคายื่นยาวที่กลายเป็นเฉลียง และชานบ้าน ที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่กึ่งเอาต์ดอร์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้แดดไม่สาดเข้าสู่พื้นที่อาศัยโดยตรงอีกด้วย #เชื่อมโยงพื้นที่ด้วย Grey area พื้นที่กึ่งร่มกึ่งแดด รอบตัวบ้านนั้น ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านจากภายในสู่ภายนอก (Transition area) และบานเปิดขนาดใหญ่นั้น ก็ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเปิดรับวิวธรรมชาติของสวนโดยรอบได้ในทุกฤดูกาล ชายคาที่ยื่นยาว และชานบ้านเหล่านี้ ช่วยป้องกัน แดด ฝน ให้แก่พื้นที่ใช้งานด้านใน จะนั่งทำงาน หรือนอนเล่นเอกเขนกที่โซฟา ก็อยู่ในสภาวะสบายได้ตลอดทั้งวัน #บ้านชั้นเดียวกับผังเปิดและความเป็นส่วนตัวบ้านหลังนี้เป็นบ้านยกสูง แต่ก็ยังเป็นบ้านชั้นเดียวในแนวราบ การสร้างให้เกิดพื้นที่ส่วนตัวจึงเป็นโจทย์สำคัญ ผู้ออกแบบเลือกใช้การวางผังอาคารแยกออกเป็น 2 หลัง โดยมีอาคารจอดรถติดกับห้องเก็บของ และส่วนพักอาศัยขนาด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ นั้นจะแบ่งพื้นที่อีกส่วนเป็นพื้นที่ นั่งเล่น และครัวที่ถูกดันออกมายังพื้นที่ติดกับชานบ้าน เพื่อเป็นพื้นที่กิจกรรมของครอบครัว การออกแบบเป็นผังเปิดแบบ Open Plan ทำให้สามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆได้อย่างลงตัว สามารถปรับเปลี่ยนให้เกิดความต่อเนื่องออกไปยังชานภายนอกได้อย่างยืดหยุ่น และเป็นอิสระ […]

บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง

เจเนอเรชั่นใหม่ของเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง

บ้านรูปแบบแปลกตาที่คนในละแวกนี้เรียกว่า “บ้านเหงี่ยง”  (ภาษาเหนือ แปลว่า เอียง) “บ้านท่าเรือ” “บ้านชี้ฟ้า” “บ้านทรงสบาย” ด้วยความที่ตัวบ้านดูแปลกประหลาดนี้เองจึงมักโดนคำถามจากเพื่อนบ้านว่า “อยู่แล้วเวียนหัวไหม” หรือ “อยู่สบายหรือเปล่า” ลองไปหาคำตอบในเนื้อเรื่องกันเลย เจ้าของ-ออกแบบ คุณศิริศักดิ์ ธรรมศิริ  NOTDS Co., Ltd. บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง ครั้งแรกที่ได้เห็นรูปทรงของ บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง หลังนี้ถึงกับต้องร้องว้าว เพราะที่นี่มีหน้าตาแตกต่างจากบ้านทั่วไปที่เราเคยเห็นมา แถมยังดูโดดเด่นต่างจากสภาพแวดล้อมในละแวกใกล้กัน เจ้าของบ้านหลังนี้ คือ คุณโต้ง-ศิริศักดิ์  ธรรมศิริ ผู้เป็นสถาปนิกออกแบบบ้านหลังนี้เองด้วย บ้านหลังนี้อยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รอบๆรายล้อมด้วยบ้านเรือนไม้ยกพื้นสูง มีวิถีชีวิต ใกล้ชิดธรรมชาติ ดังนั้นการมาสร้างบ้านรูปทรงแปลกตาในย่านนี้จึงดูโดดเด่นกว่าใคร และเมื่อได้ฟังแนวคิดการออกแบบบ้านของคุณโต้ง ยิ่งทำให้เราเข้าใจที่มาของรูปทรงบ้านมากขึ้น “ตอนมาเจอที่ดินแปลงนี้ผมเห็นว่าไม่ไกลจากที่ทำงานและตัวเมืองมากนัก แถมยังมีวิวภูเขาสวยงาม แต่ด้วยความที่ที่ดินนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ไม่สวยเท่าผืนสี่เหลี่ยมหรือจัตุรัส จึงทำให้เราซื้อที่ดินได้ในราคาถูก ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเสน่ห์ ดูธรรมชาติ จึงออกแบบบ้านให้ล้อไปกับรูปทรงที่ดินเสียเลย แล้วใส่ภาพความทรงจำวัยเด็กลงไป ผมนึกถึงตอนที่เราวิ่งเล่นไปตามคันนาที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง รูปทรงของบ้านจึงออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกล่องขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาจากดิน ให้ความรู้สึกเหมือนภูเขา หน้าบ้านมีสนามหญ้าเหมือนได้วิ่งเล่นในทุ่งนาอย่างที่นึกไว้ ส่วนขั้นบันได ผนัง และหลังคา ออกแบบให้เอียงเป็นสเต็ป […]

บ้านไทยร่วมสมัย

บ้านไทยร่วมสมัย อยู่สบ๊ายสบาย

บ้านไทยร่วมสมัย ที่ใช้งบประมาณไม่มาก ออกแบบไปแบบซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ดูทิศทางลม แดด สังเกตระดับน้ำที่เคยท่วมแล้วนำมาเป็นข้อมูลเพื่อให้ได้บ้านที่เรียบง่าย อยู่แล้วสบายจริง ๆ อีกทั้งดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะเลือกใช้วัสดุที่คงทน แข็งแรง   สถาปัตยกรรม : คุณบัณฑิต กนิษฐคนธ์ และคุณนที ศุภวิไล / ตกแต่งภายใน : คุณศิริรัตน์ เกตุพล / เจ้าของ : คุณภาณุพงศ์ – คุณบุษกร หริรักษ์ บ้านไทยร่วมสมัย หลายครั้งที่จุดเริ่มต้นของบ้านเกิดจากแรงบันดาลใจตามหน้านิตยสารตกแต่งบ้าน รูปถ่ายมุมสวยๆ ที่เห็นจากอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็เป็นรูปแบบที่สถาปนิกนำเสนอ ทุกวันนี้การออกแบบบ้านจึงมุ่งเน้นไปที่รูปฟอร์มและการตกแต่งที่ดูสดสวย โดดเด่น มากกว่าการหันกลับมามองวิถีชีวิตและบริบทของการอยู่อาศัยอย่างไทย ครั้งนี้ผมมีโอกาสมาเยี่ยมชม บ้านไทยร่วมสมัย หลังหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่สวนย่านบางพลัด ซึ่งยังพบเห็นบ้านไม้เก่ายกใต้ถุนสูงกับสวนผลไม้แบบไทยๆอยู่โดยรอบ คุณเล็ก-ภาณุพงศ์และคุณไก่-บุษกร  หริรักษ์ เจ้าของบ้าน เดินออกมาต้อนรับทีมงาน “บ้านและสวน” อย่างเป็นกันเอง ร่วมด้วย คุณกบ – บัณฑิต  กนิษฐคนธ์ น้องชายคุณไก่และสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นผู้เล่าที่มาของบ้านให้ฟังว่า […]