บ้านล้านนาประยุกต์ งามสง่าริมแม่น้ำปิง

จากบ้านล้านนาริมน้ำหลังงามที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ทำให้พื้นและโครงสร้างไม้เสียหาย จึงมีการปรับปรุงใหม่ให้สวยงามน่าอยู่ยิ่งขึ้น พร้อมต่อเติมพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม โดยประยุกต์สไตล์ล้านนาให้ดูไม่ล้าสมัย และยังใช้งานได้อย่างสะดวกสบายเข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เจ้าของ - ออกแบบ : อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร บ้านล้านนาประยุกต์ริมน้ำ ชื่อเสียงของ  อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ประจำปี 2547 เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการออกแบบของภาคเหนือ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาได้ดีแล้ว อาจารย์ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการประยุกต์สไตล์ล้านนาให้ดูไม่ล้าสมัย และยังใช้งานได้อย่างสะดวกสบายเข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ บ้านล้านนาประยุกต์ริมน้ำ หลังนี้นั่นเอง แม้จะปลูกสร้างมานานถึง 15 ปีแล้ว แต่อาจารย์จุลทัศน์ได้ปรับปรุงบ้านให้สวยงามน่าอยู่เสมอมา โดยได้แปลงโฉมบ้านและต่อเติมพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม “บ้านจะน่าอยู่ได้ก็ต้องมีการดูแลปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ บ้านของผมเองก็ต้องปรับปรุงเป็นพิเศษ เนื่องจากทุกปีจะมีน้ำท่วม ทำให้พื้นและโครงสร้างไม้เสียหาย ที่โดนหนักสุดเห็นจะเป็นเมื่อปี 2548 จึงได้โอกาสปรับปรุงครั้งใหญ่ ใช้เวลาทำานาน 3 ปี ที่ช้าเพราะเปลี่ยนโครงสร้างส่วนล่าง จากเดิมที่เป็นไม้ก็ทำเป็นคันเขื่อนตรงส่วนที่เป็นใต้ถุน เพื่อป้องกันเรื่องน้ำโดยเฉพาะ หากไม่ซ่อมเกรงว่าจะเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ และการซ่อมแซมก็จะยากกว่าเดิมด้วยครับ” นอกจากการปรับปรุงส่วนโครงสร้างแล้ว อาจารย์จุลทัศน์ยังได้เปลี่ยนผังการใช้งานด้วย จากแปลนเดิมที่มีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) มีทางเข้าอยู่ตรงกลาง โดยปีกทางด้านตะวันตกเคยเป็นห้องรับแขกก็เปลี่ยนเป็นห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่แบบเป็นทางการแทน ส่วนปีกด้านทิศตะวันออกเคยเป็นห้องนอนก็เปลี่ยนเป็นห้องรับแขก พร้อมมุมรับประทานอาหารเล็ก ๆ กลางชานบ้านเคยมีศาลาตั้งอยู่ริมบ่อน้ำก็รื้อออกไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้โล่งยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มบ่อน้ำรูปยาวขนานกับแนวแม่น้ำปิง นอกจากนี้ยังได้สร้างเรือนสองชั้นด้านหลังบ้านเดิม โดยจัดเป็นห้องนอนใหญ่และห้องนอนเล็กการแปลงโฉมครั้งใหญ่นี้ทำให้รูปลักษณ์ความเป็นล้านนาของบ้านดูทันสมัยมากขึ้น […]

บ้านล้านนาประยุกต์ในอ้อมกอดธรรมชาติ

บ้านฝรั่งหัวใจไทยที่หลงใหลในมนตร์เสน่ห์เมืองล้านนา ออกแบบบ้านโดยอิงกับงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น บนทำเลที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาซึ่งแวดล้อมด้วยทุ่งนา เจ้าของบ้านจึงทำระเบียงไว้รอบบ้านเพื่อให้ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของบ้านก็ขอให้ได้เห็นวิวอันงดงามราวกับสวรรค์สร้างนี้ทุกเวลา เจ้าของ : คุณจอห์น มาร์ และคุณณัฐนันท์ พัศดุธาร ออกแบบ : คุณจอห์น มาร์ บ้านล้านนาประยุกต์ ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้มาเห็นความอ่อนช้อยของศิลปวัฒนธรรมไทยผสานกับภูมิประเทศที่งดงามของบ้านหลังนี้จะรู้สึกหลงใหลในมนตร์เสน่ห์แห่งความเรียบง่ายนี้ และผมก็คิดว่า คุณจอห์น มาร์ เจ้าของบ้านชาวอังกฤษผู้นี้คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ทว่าเขาไม่เพียงชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น แต่ยังตกหลุมรักแม่หญิงเชียงใหม่ คุณณัฐนันท์ พัศดุธาร กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย คุณจอห์นเริ่มบทสนทนาว่า  “ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับนำเข้าและส่งออกเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่อังกฤษ ทำให้ต้องเดินทางไปดูสินค้าตามประเทศต่างๆเป็นประจำ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนได้มาเที่ยวเชียงใหม่ตามคำชักชวนของเพื่อนชาวไทยซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยา พอได้มาสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่และงานศิลปะของชาวล้านนาก็เกิดความชื่นชอบจนถึงขั้นหลงใหล เลยตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งภรรยาพาไปเที่ยวคุ้มเจ้าบุรีรัตน์(น้อยมหาอินทร์)ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมรู้สึกชอบรูปทรงของตัวอาคาร จึงนำมาเป็นไอเดียในการทำบ้าน โดยทำเป็นเรือนหลักสำหรับพักอาศัยเองเพียงเรือนเดียว ไหนๆก็อยู่กันแค่สองคน มีแค่ห้องนอนกับห้องรับแขกอย่างละห้องก็พอ เนื่องจากทำเลของบ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาที่แวดล้อมด้วยทุ่งนา ผมคิดว่าไม่ว่าจะนั่งอยู่ตรงไหนของบ้านก็ขอให้ได้เห็นวิว จึงทำระเบียงเสียรอบบ้านเลย” คุณณัฐนันท์เสริมว่า  “คุณจอห์นชอบธรรมชาติมากแต่เป็นฝรั่งขี้หนาว เปิดแอร์เปิดพัดลมไม่ได้เลย บ้านหลังนี้จึงไม่ได้ติดแอร์ แต่มีประตูอยู่รอบบ้านแทน ที่สำคัญคืออยากให้บ้านดูกลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด ชั้นล่างของบ้านจึงทำเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ ส่วนเรือนรับรองที่สร้างแยกไปอีกหลังก็เกิดจากแนวคิดที่ว่าเวลามีญาติหรือเพื่อนฝูงมาจะไปพักที่โรงแรมก็ไม่สะดวก จึงทำไว้เพื่อความเป็นส่วนตัวของทั้งเราและแขกด้วย โดยเรือนรับรองได้แนวคิดมาจากเรือนไทยที่วังสวนผักกาด ลักษณะเป็นบ้านไทยในอยุธยา ใช้โทนสีดำ […]