- Page 2 of 2

อบอุ่น ละมุน ร่วมสมัย

ประตูไม้บานเล็กเปิดออกให้เห็นสวนหินสไตล์ญี่ปุ่นที่ดูเรียบง่ายสบายตาช่วยเพิ่มความรู้สึกสงบนิ่งเหมือนเช่นตัวบ้านที่ออกแบบให้มีรูปทรงแบบเรขาคณิตดูไม่หวือหวา ทว่าก็มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจเลือกบ้านหลังนี้ “เดิมทีผมมีบ้านอยู่อีกที่หนึ่ง หลังนั้นค่อนข้างเล็ก ก็เลยอยากได้บ้านที่มีสนามหญ้าหน้าบ้าน มีบ่อปลาคาร์พ มีมุมปาร์ตี้สังสรรค์กันเล็กๆ ภายในครอบครัว และผมก็มาเจอที่นี่ ชอบที่ตำแหน่งของบ้านมีลมพัดผ่านตลอดเวลา บรรยากาศในบ้านจึงเย็นสบาย” เจ้าของบ้านเกริ่นถึงที่มาของบ้านหลังนี้ให้ฟัง บนพื้นที่ประมาณ 360 ตารางเมตรที่มาพร้อมกับตัวบ้านของโครงการ เจ้าของบ้านต้องการแบ่งสัดส่วนและต่อเติมบ้านใหม่ทั้งหมด จึงค้นหาทีมสถาปนิกและนักออกแบบตกแต่งภายในจากอินเทอร์เน็ต จนได้มาพบกับ คุณดาวุค – นิรัติศัย สลาม จากบริษัทพาย จำกัด ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้อย่างครบถ้วน “เจ้าของบ้านอยากได้บ้านที่ดูอุ่นๆ ไม่โมเดิร์นจนเกินไป มีบรรยากาศอบอุ่นแบบโฮมมี่ ผมจึงตีโจทย์เป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นผสมกับคอนเทมโพรารีที่มีความร่วมสมัยครับ” คุณดาวุคเล่าถึงแนวทางออกแบบว่า เน้นความเรียบหรูภายใต้โทนสีขาวที่ดูสว่าง เริ่มที่ส่วนรับแขกออกแบบให้เชื่อมต่อไปถึงส่วนรับประทานอาหารและส่วนเตรียมอาหาร วัสดุส่วนใหญ่ที่บ้านหลังนี้เลือกใช้ก็เป็นวัสดุธรรมชาติอย่างหินอ่อนและไม้ “เจ้าของบ้านชื่นชอบหินและไม้อยู่แล้ว อยากให้บ้านทั้งหลังดูอบอุ่นด้วยโทนสีครีมและขาว ผมและทีมงานจึงออกแบบให้ที่นี่มีบรรยากาศที่ดูกลมกลืนกันทั้งหลังซึ่งกลมกลืนในที่นี้หมายถึงเข้ากันได้ดี ไม่ขัดแย้งกันระหว่างไม้กับหินครับ” ถัดจากส่วนรับแขกก็เป็นโต๊ะรับประทานอาหารสีขาวที่จัดวางอย่างโดดเด่น อีกทั้งเพิ่มความน่าสนใจให้พื้นที่โดยรอบด้วยตู้ปลาขนาดใหญ่ที่เจ้าของบ้านรักและชื่นชอบ โดยติดตั้งอยู่ในผนัง ทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ถัดมาคือห้องนั่งเล่นที่เจ้าของบ้านและครอบครัวมักใช้เวลาในช่วงหัวค่ำมารวมตัวพูดคุยกัน จัดวางโซฟาสีส้มบนพื้นพรมเนื้อนุ่มสีเทา – ดำ เข้ากันได้ดีกับฝ้าเพดานที่ออกแบบเป็นระแนงไม้ เพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง นอกจากนี้เมื่อมองทะลุประตูบานเลื่อนกระจกออกไปด้านนอกจะเห็นบ่อปลาคาร์พที่ทำหน้าที่เพิ่มความเป็นธรรมชาติและสร้างบรรยากาศน่าสบายให้บ้าน “ในห้องนั่งเล่นนี้ยังมีมุมสำหรับปาร์ตี้กันเล็กๆ ออกแบบให้มีมินิบาร์เพื่อรับรองแขกที่มาเยือน ด้านหลังเป็นตู้บิลท์อินสำหรับเก็บของและโชว์ถ้วยรางวัลที่เจ้าของบ้านได้มาจากการแข่งขันดริฟต์รถแข่ง”   เมื่อขึ้นไปยังชั้นบนจะเห็นมุมนั่งเล่นที่เชื่อมไปยังห้องนอนใหญ่ ห้องนอนลูกสาว และห้องนอนลูกชาย […]

The Neverland of Andra Matin ระหว่างพื้นที่กับการเดินทาง

  เมื่อเดินผ่านประตูรั้วด้านหน้าบ้านเข้าไปเราจะพบทางเดินไม้ลอยอยู่เหนือสระน้ำ ขนาบด้วยกำแพงดินที่มีมอสส์และเฟินแทรกอยู่เป็นระยะ ร่องไม้ที่ชั้นบนเว้นที่ว่างให้แสงสว่างลอดผ่านลงมาสะท้อนกับผืนน้ำดูระยิบระยับไปทั่วบริเวณ  ปลาคาร์พตัวเขื่องว่ายน้ำลอดจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่ง แดดจัดจ้าของประเทศอินโดนีเซียช่วยเติมเต็มความสดใสให้บ้านหลังนี้ได้อย่างเหลือเฟือ Mr. Andra Matinเจ้าของและผู้ออกแบบบ้าน AM House หลังนี้ยิ้มต้อนรับและผายมือเชิญเราเข้าสู่ภายในบ้าน  เขาพาเราเดินขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านซึ่งจัดวางโต๊ะยาวขนาด 4 – 5 เมตร เพื่อใช้รับแขก จากตรงนี้เรามองเห็นอาคารคอนกรีตสมัยใหม่ที่เปิดโล่งและมีพื้นที่อเนกประสงค์คล้ายบ้านใต้ถุนสูงอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร แล้วบทสนทนาระหว่างเรากับคุณอันดราก็เริ่มขึ้น “ผมเริ่มก่อสร้างบ้านหลังนี้ในปีค.ศ. 2008 เริ่มจากโครงสร้างหลักคือกล่องปูนเปลือยยกสูงอย่างที่เห็นเมื่อบ้านค่อยๆก่อร่างขึ้นก็ทำให้ผมเห็นรายละเอียดที่ควรใส่เพิ่มลงไปจึงใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าบ้านทั่วไปแต่การค่อยๆคิดและถักทอพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่ลงตัวกับผมและครอบครัวอย่างแท้จริงบ้านหลังนี้เสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2013 ใช้เวลารวม 5 ปีพอดี” คุณอันดราเป็นเจ้าของสำนักงานออกแบบ Andramatin และถือเป็นสถาปนิกรุ่นบุกเบิกที่เปิดรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างอิสระในประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เขาใส่ใจที่สุดก็คืองานออกแบบที่สอดรับกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศนี้ บริษัทของเขาจึงเป็นผู้นำด้านงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล ดังจะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้แทบไม่ใช้เครื่องปรับอากาศเลย มีเพียงสองจุดเท่านั้นคือห้องน้ำที่ชั้นใต้ดินซึ่งต้องใช้เครื่องกำจัดความชื้นและในห้องนอนชั้นบน นอกเหนือจากนั้นล้วนพึ่งพาพลังจากธรรมชาติทั้งสิ้น และอีกเรื่องหนึ่งที่คุณอันดราสนใจก็คือการออกแบบพื้นที่ “ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่มากกว่ารูปทรง” คุณอันดราอธิบายหลักการออกแบบพื้นที่ซึ่งใช้กับทุกงานออกแบบของเขาแม้แต่กับบ้านหลังนี้ “ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ (Spatial Relationship) ต้องมองไปถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมากกว่าการมองแบบเป็นห้องสี่เหลี่ยม เพราะในความเป็นจริงกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะนั่งนอนเดินหรือยืนต่างก็มีพื้นที่ ‘ระหว่างกัน’ทั้งสิ้นเมื่อคิดได้ดังนี้รูปทรงก็จะออกมาต่างอย่างที่ควรจะเป็นสามารถออกแบบร่วมกับเรื่องภูมิอากาศและการอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม” คำอธิบายข้างต้นพอทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมบ้านหลังนี้จึงมีรูปทรงแปลกตาและชวนให้แปลกใจทุกครั้งที่ก้าวผ่านจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง “ผมชอบการเดินทางบ้านของผมก็เลยให้ความรู้สึกของการเดินทาง” การเปลี่ยนผ่านแต่ละพื้นที่ของบ้าน AM House เปรียบได้กับการผจญภัยย่อมๆ ทั้งทางเข้าที่เดินทะลุขึ้นมายังเนินดินก่อนเข้าสู่พื้นที่รับแขกที่ลัดขึ้นบันไดเวียนสู่สวนดาดฟ้าได้ หากเดินจากพื้นลาดอีกด้านหนึ่งก็จะแยกออกไปยังเรือนเล็กของคุณอันดรา แล้ววนกลับเข้ามาที่ห้องของลูกๆ ห้องทำงานชั้นล่างยังมีประตูซ่อนอยู่หลังชั้นหนังสือเพื่อออกไปยังห้องละหมาดและห้องน้ำได้อีกด้วย […]

โอบล้อมด้วยแสงใน บ้านไทย สไตล์มินิมัล

นับเป็นโชคดีของเราที่วันนี้อากาศดี ไม่ร้อนจัดและแสงแดดไม่แรงจนเกินไป เหมาะแก่การถ่ายภาพบ้านเป็นอย่างยิ่ง บ้านที่เรามาเยือนในครั้งนี้เป็นเรือนหอ บ้านไทย สไตล์มินิมัลของ คุณจุ๊บ – ศศธร ภาสภิญโญ และ คุณรินทร์ – ภัทรกานต์ เศรษฐชยั ตั้งอยู่ในย่านพัฒนาการ บนพื้นที่ 100 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินเดิมของครอบครัวคุณจุ๊บ บ้านที่มีไอเดียในการจัดการกับแสงสว่างได้อย่างน่าสนใจ   “เริ่มแรกเราอยากได้บ้านไทยสไตล์มินิมัล กล่าวคือมีโถงทางเดินอยู่ตรงกลางบ้านเหมือนบ้านไทย แต่การตกแต่งต้องดูเรียบ มีแฝงอารมณ์แบบญี่ปุ่นนิดๆ และเปิดรับแสงธรรมชาติได้รอบบ้านโดยที่ต้องไม่เพิ่มความร้อนให้บ้านด้วย เราสองคนชื่นชอบการอ่านหนังสือและมักเก็บภาพสไตล์การตกแต่งบ้านไว้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านของเรา” คุณจุ๊บเกริ่นนำให้เราฟัง การหาไอเดียจากหนังสือประกอบกับเคยเรียนด้านสถาปัตยกรรม จึงสเก็ตช์ภาพบ้านแบบคร่าวๆ พร้อมบอกความต้องการหลักให้ คุณวิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ สถาปนิกนำไปออกแบบต่อ ใน บ้านไทย หลังนี้ จากที่จอดรถ ผู้ออกแบบทำทางเดินรอบบ่อปลาคาร์พ ก่อนจะนำเข้าไปสู่ตัวบ้าน การออกแบบดังกล่าวสร้างบรรยากาศแห่งการเชื้อเชิญ เปรียบเสมือนการต้อนรับจากเจ้าของบ้าน รอบบริเวณบ้านยังปลูกต้นไม้นานาพรรณดูร่มรื่น สร้างความรู้สึกสดชื่นได้ดีก่อนเข้าไปสู่ภายในบ้าน ซึ่งสิ่งแรกที่พบคือโถงนั่งเล่นแบบดับเบิลสเปซที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย สะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้านทั้งสองที่ชื่นชอบความสบายและเป็นกันเอง ผู้ออกแบบใช้โถงบันไดกลางบ้านเป็นจุดเชื่อมโยงทุกพื้นที่ใช้งานตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ผนังที่ขนาบโถงนี้ทั้งสองด้านเป็นปูนเปลือย ดูเท่และทันสมัยแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบผสมผสานกับการเลือกใช้ไม้และไม้วีเนียร์ เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่ดูสะอาดตา โถงบันไดนี้ยังแบ่งบ้านเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วยส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร […]

บ้านโมเดิร์น ทรงเหลี่ยมๆ บนหินทรงกลม ๆ

บ้านโมเดิร์น บนที่ดินที่คาดคะเนว่าอาจมีน้อยคนนักที่จะสนใจที่ดินผืนนี้…ทำไมน่ะหรือ Design Directory สถาปนิก : Kusol Im-Erbsin บ้านโมเดิร์น ก็เพราะบริเวณนี้เต็มไปด้วยหิน ไม่ใช่หินธรรมดาเสียด้วย เป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่มาก ดังนั้นการวางแปลนบ้านก็จะยากกว่าบ้านทั่วไปหรือแม้แต่บ้านบนเนินเขาหลายเท่านัก แต่เจ้าของบ้านหลังนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น ที่ดินขนาดประมาณ 1 ไร่นี้ดูคับแคบกว่าความเป็นจริง เพราะเต็มไปด้วยหินธรรมชาติขนาดยักษ์ ขอบเขตของพื้นที่ต่ำกว่าระดับถนนลงไปเป็นผาหินชัน บังตัวบ้านสองชั้นจนมองเห็นแค่หลังคาบางส่วนเท่านั้น เราจึงไม่อาจคาดเดาหน้าตาของบ้านว่าจะมีลักษณะเป็นเช่นไร ที่ดินที่มีระดับแตกต่างกันมาก ประกอบกับเต็มไปด้วยหิน ทำให้การออกแบบอาคารต้องแยกพื้นที่ใช้สอยให้ห่างกัน เป็น บ้านโมเดิร์น ภายใต้หลังคาแบบเพิงหมาแหงนที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยทุกพื้นที่จะมีการ “เล่นเส้น” อย่างแยบยล สร้างความเชื่อมโยงและปรับความรู้สึกของแปลนรูปทรงสี่เหลี่ยม ผืนผ้าที่น่าเบื่อด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ยกระดับพื้นให้ลดหลั่นกัน เปิดฝ้าเพดานขึ้นไปจนติดหลังคา ปล่อยเปลือยโครงสร้างบางส่วนเพื่อรับแสงด้านข้างและลวงตาให้เกิดเป็นเส้นสายในงานออกแบบ ทำให้รูปทรงดูต่างออกไป และสร้างความรู้สึกสบายยิ่งขึ้น ด้วยลักษณะของพื้นที่ การวางตำแหน่งอาคารจึงแยกเป็น 3 หลัง มีเรือนหลังใหญ่สองชั้นที่วางแปลนเป็นรูปตัวที (T) ชั้นบนเป็นส่วนนั่งเล่นแบบเปิดโล่ง เผยให้เห็นงานโครงสร้าง ผนังด้านในบางส่วนตีไม้ระแนง บางส่วนเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนสลับกับกระจกใส มีระเบียงโล่งแนวขวางตั้งฉากกับห้องจัดเป็นส่วนรับประทานอาหารแบบเอ๊าต์ดอร์ ส่วนชั้นล่างของเรือนใหญ่แม้จะเน้นให้มีความเรียบโล่ง แต่ก็มีผนังกั้นเพื่อความเป็นสัดส่วนมากกว่าชั้นบน หลักๆ ออกแบบเป็นผนังบานเลื่อนกระจกใสขนาดใหญ่เต็มผนัง ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่นที่ออกแบบเป็นเตียงขนาดใหญ่ ใกล้กันเป็นห้องรับประทานอาหารกึ่งทางการ และส่วนที่อยู่ในสุดเป็นแพนทรี่แบบทันสมัย เรือนหลังที่สองเป็นเรือนชั้นเดียว […]

ปริ่มสุขในพื้นที่จำกัด

  บ้านที่ดีควรเป็นบ้านที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ บ้านหลังนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบให้สัมพันธ์กับอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย เบื้องหลังประตูตะแกรงเหล็กสีดำคือบ้านสไตล์โมเดิร์นของ คุณเอ – จิรสีห์ และ คุณสุพินดา เตชาชาญ ซึ่งสร้างบ้านเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้บ้านดูใหญ่และโอ่โถง ทั้งที่ขนาดที่ดินไม่ได้ใหญ่มาก เมื่อก้าวเข้าไปภายในบ้านเราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบ้าน พร้อมกับสายลมอ่อนๆ ที่พัดเข้ามาตลอดเวลา “เดิมทีที่ดินตรงนี้เป็นสนามหญ้าของบ้านคุณแม่คุณเอ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 65 ตารางวา และคุณเอต้องการใช้เป็นเรือนหอครับ” คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน และยังเป็นเพื่อนสนิทของคุณเอด้วย เกริ่นนำให้เราฟัง “โจทย์แรกที่ผมได้รับก็คือคุณเอเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่อับๆอยากได้บ้านที่โปร่งโล่ง และต้องการพักผ่อนสบายๆ ในบ้านที่ให้อารมณ์กึ่งๆรีสอร์ต เพราะเป็นคนชอบอยู่บ้าน และต้องมีมุมสำหรับปาร์ตี้สังสรรค์กันทุกเดือน” คุณรักศักดิ์เท้าความถึงวันแรกๆ ของการพูดคุยกับคุณเอ นับจากวันนั้นเขาและทีมงานก็กลับมาทำการบ้าน โดยพิจารณาจากความต้องการของเจ้าของบ้านและข้อจำกัดของพื้นที่ จนได้แนวคิดหลักในการออกแบบ “เรามองว่าจะต้องเป็นบ้านที่อยู่สบาย ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน ที่สำคัญรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด” ตัวอาคารใช้โครงสร้างเหล็กกรุกระจกใส ซึ่งตอบโจทย์ความชื่นชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังทำประตูเชื่อมระหว่างบ้านคุณเอกับบ้านคุณแม่ จุดเด่นที่น่าสนใจของบ้านนี้คือโครงสร้างเหล็กและประตูบานสูงชะลูดบริเวณทางเข้าบ้าน ซึ่งเปิดได้ทั้งหมด 4 ช่องทาง ทำให้เกิดทางระบายอากาศภายในบ้านระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ หลายท่านอาจสงสัยว่าการเลือกใช้กระจกจะเหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราจริงหรือ คุณรักศักดิ์ให้คำตอบว่า “หากเลือกวางตำแหน่งบ้านในทิศทางที่ถูกต้อง เน้นการรับแสงธรรมชาติเลี่ยงแดดจัด ก็จะทำให้บ้านที่ใช้กระจกได้สัมผัสกับความร่มรื่น ผมและทีมงานจะคำนวณด้วยโปรแกรมทุกครั้งก่อนออกแบบ เพื่อหาทิศทางของกระแสลมที่พัดในแต่ละช่วงเวลาตลอดทั้งปี […]

Co-housing Space บ้านที่แชร์พื้นที่ร่วมกันกับธรรมชาติ

ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา เรากำลังมุ่งหน้าไปทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อุณหภูมิในรถเช่าไม่เย็นพอที่จะลดความอบอ้าวของสภาพอากาศด้านนอก หรืออาจเป็นใจของเราเองก็ได้ที่ร้อนขึ้นจากสภาพการจราจรเบื้องหน้า หนึ่งชั่วโมงครึ่งผ่านไปกับระยะทางไม่ไกลนักจากย่านกลางเมือง  เราเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ผ่านประตูโครงการที่เหมือนประตูบ้านหลังใหญ่มากกว่าเป็นโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งเปิดให้เห็นต้นไม้ใหญ่ ดูคล้ายเป็นหมู่บ้านโมเดิร์นกลางป่า และช่วยเปลี่ยนความรู้สึกร้อนในใจให้เย็นลงได้แบบฉับพลัน “Tanah Teduh” เป็นโครงการบ้านจัดสรรที่ทำให้เรานึกถึงบ้านแบบ Co-housing Space หรือกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่ทุกบ้านรู้จักกัน มีพื้นที่หน้าบ้านหรือหลังบ้านร่วมกัน แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ได้ด้วยการออกแบบที่ดี บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ซึ่งเดิมเป็นสวนผลไม้ เจ้าของโครงการพยายามเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีสร้างบ้านหลบต้นไม้ อาคารทุกหลังเน้นการออกแบบเปิดรับแสงธรรมชาติ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รู้สึกใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมสีเขียวให้มากที่สุด แนวคิดดังกล่าวทำให้บ้าน 20 หลังในโครงการนี้มีพื้นที่ที่เปิดรับธรรมชาติและดูเป็นสัดส่วน แม้จะไม่มีรั้วกั้นบ้านแต่ละหลัง แต่ต้นไม้และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็ช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวได้ไม่ยาก โครงการนี้ออกแบบโดย 10 สถาปนิกระดับแนวหน้าของอินโดนีเซีย บ้านแต่ละหลังมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ราวกับเป็นลายเซ็นที่สถาปนิกกำกับไว้ผ่านรายละเอียดงานออกแบบที่ปรากฏ เราตั้งใจมาเยือนบ้านหลังหนึ่งที่ Mr. Andra Martin สถาปนิกผู้เป็นไดเร็กเตอร์ของโครงการนี้ออกแบบเอาไว้ แต่ต้องพบกับความผิดหวังเล็กน้อย เพราะเจ้าของยังไม่ได้มาอยู่บ้านหลังดังกล่าวจริงๆ ทว่า the show must go on เราเริ่มต้นถ่ายบ้าน แต่เหมือนฟ้าลิขิต น้องในทีมรีบวิ่งมาบอกเราอย่างตื่นเต้นว่า “พี่ๆ บ้านด้านหลังนี้เจ้าของบ้านเป็นคนไทยและสวยมาก” แน่นอนว่าใจของเราพุ่งไปถึงบ้านหลังนั้นก่อนขาจะก้าวไปทันเสียอีก […]

บ้านปูนสีขาวผสมไม้ ในบรรยากาศริมคลอง

อยากให้เหมือนบ้านไทยสมัยก่อนที่ปลูกติดริมน้ำ มีการลดหลั่นของอาคารและเปิดมุมมองสู่ริมน้ำ มีความเคารพต่อธรรมชาติ แต่อยู่ในรูปแบบที่ดูทันสมัย ทั้งวัสดุ รูปลักษณ์ และจริตอย่างปัจจุบัน