หนังสือชุด
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๔ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๔ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน“ ในโลกที่คนส่วนมากมีชีวิตอยู่บนการแข่งขัน ความวุ่นวาย และการมุ่งไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจาก “ในหลวงของเรา” กลายเป็นคำตอบให้ใครหลายๆคนเลือกเดินตาม “บ้าน บ้าน” ฉบับที่ ๔ นี้ เราตั้งใจไปพูดคุยกับผู้คนที่มุ่งมั่นเดินตามเส้นทางแห่งการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเลือกทำได้หลากหลายวิถี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของชีวิตแต่ละคน มากบ้าง น้อยบ้าง มืออาชีพบ้าง มือใหม่บ้าง แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจจริงของเขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การพึ่งพาตนเองนั้น ขอเพียงมีจิตใจที่มุ่งมั่น ไม่ว่าใครก็ทำได้ เมื่อเราได้ลองทำ แล้วทำได้ เราจะเกิดความเชื่อมั่น เกิดความภาคภูมิใจ มีความเคารพนับถือตัวเอง สิ่งนี้จะเป็นพลังให้เราดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การใช้เงินซื้อทุกอย่างนั้นดูเหมือนง่าย แต่มันง่ายจริงหรือ บางทีถ้าเราพึ่งตนเองได้มากๆ ใช้จ่ายให้น้อยลง เราอาจจะสนุกกับการค้นพบคุณค่าของชีวิตมากขึ้นก็เป็นได้
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๒ “บ้านฉันสวย ฉันแต่งเอง”
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๒ “บ้านฉันสวย ฉันแต่งเอง“ “บ้าน บ้าน” ฉบับนี้พาไปรู้จักคนที่มีความมุ่งมั่นกับการแต่งบ้านอย่างเต็มที่ แม้บ้านเหล่านี้อาจไม่ใช่ “บ้านสวย” ในสายตาทุกคน แต่่เต็มไปด้วยพลังของการรักจะแต่ง เป็นบ้านของคนที่รู้จักความต้องการของตัวเองดีที่สุด และเต็มไปด้วยความรู้สึก “ภูมิใจนำเสนอ” ซึ่ง “บ้าน บ้าน” เชื่อว่าบ้านแบบนี้ล่ะที่จะกระตุ้น “ต่อมประดับประดา” อันน่าจะมีอยู่ในมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ให้ตื่นขึ้น และเปลี่ยนมุมมองให้เราเกิดความภูมิใจในการได้ลงมือทำอะไรเอง นอกจากการลงมือแต่งเองแล้ว บ้านทุกหลังในเล่ม ยังมีข้อจำกัดที่ท้าทายคนรักการแต่งบ้านเหมือนๆกันคือ ขนาดของบ้านที่ค่อนข้างเล็กถึงเล็กมาก ทว่ามีข้าวของจำนวนเยอะถึงเยอะมาก การจัดการให้บ้านดูสวยและไม่รกได้ต้องอาศัยทั้งความสามารถในการจัดระเบียบและรสนิยมที่ดี นอกจากบ้านห้าหลัง ในเล่มยังมีเรื่องราวของ ชุมชนศิลปะที่เชียงใหม่ ศิลปะ–ศิลปิน และร้านค้าอารมณ์อุ่น ซึ่งเกิดจากคนที่ลงมือทำอะไรเอง ทำอย่างเต็มที่และภูมิใจนำเสนอสู่สายตาสาธารณะเช่นกัน
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๑ “ช้าๆแต่ว่ายั่งยืน”
บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๑ “ช้าๆแต่ว่ายั่งยืน“ “บ้าน บ้าน” เดินทางออกจากกรุงเทพฯเพื่อไปเห็นวิถีชีวิตและแนวคิดที่ต่างออกไป จังหวะชีวิตของคนต่างจังหวัดนั้นเชื่องช้ากว่าในเมืองใหญ่ วิธีที่ผู้คนดื่มด่ำกับความสุขระหว่างวันจึงไม่ต้องแข่งกับเวลา เป็นความสุขที่ค่อยเป็นค่อยไป ทว่าอยู่ยืน ผู้คนที่”บ้าน บ้าน”ไปพบเจอมานั้น ส่วนมากเป็นคนพลัดถิ่น ที่มาตกหลุมรักกับท้องถิ่นใหม่ ด้วยเหตุผลและแรงจูงใจต่างๆกัน แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ดำรงชีวิตอยู่โดยมีศิลปะเป็นเพื่อน “ศิลปะ” นั้นมีอยู่รอบตัว ทั้งยังเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยมือของเราเองตลอดเวลา หากเราเหนี่ยวนำศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต น่าจะช่วยให้เกิดสุนทรียภาพกับตัวเอง และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างอีกด้วยอย่างเป็นอัตโนมัติ ลองมาดูตัวอย่างจากเรื่องราวและผู้คนใน “บ้าน บ้าน” เล่มนี้ แล้วจะพบว่า เมื่อเรามอบศิลปะและเวลาให้กับตัวเองแล้ว ผลที่ได้นั้นเป็นอย่างไร