ว่านปรอท

ชื่อวิทยาศาสตร์: Typhonium  sp. วงศ์: Araceae ประเภท: ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้น: สูงประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำต้นใต้ดินคล้ายหัวเผือก รูปทรงกลมขนาดเล็ก ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้ม เส้นใบเด่นชัด ดอก: ช่อดอกออกที่ซอกใบแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับคล้ายกาบรองรับช่อดอกสีขาวนวล มีจุดประสีแดง ปลีดอกสีเหลือง อัตราการเจริญเติบโต: ช้า  ดิน: ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แสงแดด: แสงแดดรำไร น้ำ: ปานกลาง การขยายพันธุ์: แยกหน่อ การใช้งานและอื่นๆ: ปลูกเป็นไม้ประดับ ในทางสมุนไพรใช้เป็นยาถอนพิษ ฝี และอาการปวดแสบปวดร้อนจากน้ำร้อนลวกหรือไฟลวก โดยนำหัวหรือใบมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว พอกบริเวณที่เกิดอาการจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ แต่หัวว่านนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วจะคันมาก เนื่องจากมีสารแคลเซียมออกซาเลตในเนื้อ หมายเหตุ: ว่านปรอทที่ปลูกเลี้ยงกันในปัจจุบันมีหลายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นต้นที่เรียกว่า ว่านตะพิดเล็ก หรือ อุตพิดเล็ก (Typhonium sp.) ซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ว่านปรอทในบางตำราก็เป็นพืชในวงศ์ขิงด้วย

ว่านคางคก (มะอะอุ)

มะโนรา/ว่านมหาอุด/ว่านมหาอุตมะ/ว่านมะอะอุก้านเขียว/อุตพิด ชื่อวิทยาศาสตร์: Typhonium trilobatum (L.) Schott วงศ์: Araceae ประเภท: ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้น: มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวคล้ายเผือก รูปกึ่งทรงกลม แตกหน่อเป็นปุ่มหัว ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เมื่อต้นขนาดเล็ก ใบรูปหัวใจ เมื่อเจริญเต็มที่หยักเป็นแฉก 3-5 แฉก ปลายใบแหลม เส้นใบเป็นร่องตื้น ก้านใบกลม สีเขียวหรือดำ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ดอก: ช่อดอกออกที่ซอกใบแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับคล้ายกาบรองรับช่อดอกสีเขียว ปลีดอกสีแดง อัตราการเจริญเติบโต: ช้า ดิน: ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ต้องการความชื้นในอากาศสูง แสงแดด: แสงแดดรำไร พักตัวในฤดูหนาว น้ำ: ปานกลาง การขยายพันธุ์: แยกหน่อ การใช้งานและอื่นๆ: เป็นสมุนไพรแก้โรคเรื้อนกวางและโรคผิวหนังอื่นๆ โดยนำหัวมาทุบผสมกับเหล้า ทาบริเวณที่เกิดอาการ หมายเหตุ: ว่านต้นนี้คืออุตพิดสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง ดอกก็มีกลิ่นเหม็นคล้ายอุตพิด แต่กลิ่นอ่อนกว่ามาก […]