- Home
- ฉบับกุมภาพันธ์ 2559
ฉบับกุมภาพันธ์ 2559
ฤดูแห่งสวน
แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวนราธิวาสมายาวนาน สองฝั่งแม่น้ำยังคงบรรยากาศเรียบง่าย อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำใสสะอาดไหลมุ่งหน้าสู่ประตูกั้นเขื่อนลุ่มน้ำบางนรา โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาแหล่งน้ำจืด เพื่อใช้ในการชลประทาน อุปโภคบริโภค ป้องกันน้ำเค็ม ระบายน้ำ ควบคุมน้ำในลุ่มน้ำบางนราและพรุโต๊ะแดง เขื่อนกั้นน้ำที่ว่านั้นคืออีกหนึ่งวิวงดงามเมื่อมองจากบ้านหลังนี้ บ้านหลังงามบนพื้นที่ราว 4 ไร่ครึ่งของ คุณพงศ์ศักดิ์ ชุติเชาวน์กุล ไม่เพียงแต่จะอยู่ติดริมแม่น้ำบางนราซึ่งให้บรรยากาศดีอย่างที่สุด สวนรอบบ้านนี้ยังเต็มไปด้วยไอเดียการตกแต่งที่น่าประทับใจสร้างสรรค์ผลงานโดย คุณนนทชัย จันทร์เต็ม แห่ง GardenAAA สภาพพื้นที่เดิม “ที่นี่มีสวนอยู่แล้วในรูปแบบลำธารธรรมชาติ มีบ่อปลาและพื้นไม้ระแนง แต่ด้วยอากาศของภาคใต้จะมีฤดูฝนค่อนข้างยาวนาน มีช่วง 4 เดือนที่ฝนตกต่อเนื่องทั้งวันและสลับกับตกหนักทั้งวัน บางสัปดาห์มองไม่เห็นแสงแดดเลยก็มี หรือมีแดดก็นิดเดียว บางครั้งเราเห็นแดดออกแต่ฝนตกก็มี ส่วนในฤดูร้อนตอนกลางวันจะร้อนจัด ยิ่งเข้าเดือนเมษายนความร้อนจะสูงมากจนรู้สึกแสบผิวหนังเป็นสาเหตุให้บ่อปลาและลำธารเจออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้น้ำในบ่อเป็นสีเขียว อุณหภูมิน้ำไม่คงที่ ปลาจึงไม่สามารถอยู่ได้ และด้วยอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงมากในแต่ละฤดู กับความชื้นที่สูงมากในช่วงฤดูฝน ทำให้พื้นไม้ระแนงเดิมผุกร่อนเร็ว” คุณนนทชัยอธิบาย และทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการออกแบบสวนเพื่อแก้ปัญหาให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศของที่นี่ อ่านต่อหน้า 2
บ้านโมเดิร์น ทรงเหลี่ยมๆ บนหินทรงกลม ๆ
บ้านโมเดิร์น บนที่ดินที่คาดคะเนว่าอาจมีน้อยคนนักที่จะสนใจที่ดินผืนนี้…ทำไมน่ะหรือ Design Directory สถาปนิก : Kusol Im-Erbsin บ้านโมเดิร์น ก็เพราะบริเวณนี้เต็มไปด้วยหิน ไม่ใช่หินธรรมดาเสียด้วย เป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่มาก ดังนั้นการวางแปลนบ้านก็จะยากกว่าบ้านทั่วไปหรือแม้แต่บ้านบนเนินเขาหลายเท่านัก แต่เจ้าของบ้านหลังนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น ที่ดินขนาดประมาณ 1 ไร่นี้ดูคับแคบกว่าความเป็นจริง เพราะเต็มไปด้วยหินธรรมชาติขนาดยักษ์ ขอบเขตของพื้นที่ต่ำกว่าระดับถนนลงไปเป็นผาหินชัน บังตัวบ้านสองชั้นจนมองเห็นแค่หลังคาบางส่วนเท่านั้น เราจึงไม่อาจคาดเดาหน้าตาของบ้านว่าจะมีลักษณะเป็นเช่นไร ที่ดินที่มีระดับแตกต่างกันมาก ประกอบกับเต็มไปด้วยหิน ทำให้การออกแบบอาคารต้องแยกพื้นที่ใช้สอยให้ห่างกัน เป็น บ้านโมเดิร์น ภายใต้หลังคาแบบเพิงหมาแหงนที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยทุกพื้นที่จะมีการ “เล่นเส้น” อย่างแยบยล สร้างความเชื่อมโยงและปรับความรู้สึกของแปลนรูปทรงสี่เหลี่ยม ผืนผ้าที่น่าเบื่อด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ยกระดับพื้นให้ลดหลั่นกัน เปิดฝ้าเพดานขึ้นไปจนติดหลังคา ปล่อยเปลือยโครงสร้างบางส่วนเพื่อรับแสงด้านข้างและลวงตาให้เกิดเป็นเส้นสายในงานออกแบบ ทำให้รูปทรงดูต่างออกไป และสร้างความรู้สึกสบายยิ่งขึ้น ด้วยลักษณะของพื้นที่ การวางตำแหน่งอาคารจึงแยกเป็น 3 หลัง มีเรือนหลังใหญ่สองชั้นที่วางแปลนเป็นรูปตัวที (T) ชั้นบนเป็นส่วนนั่งเล่นแบบเปิดโล่ง เผยให้เห็นงานโครงสร้าง ผนังด้านในบางส่วนตีไม้ระแนง บางส่วนเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนสลับกับกระจกใส มีระเบียงโล่งแนวขวางตั้งฉากกับห้องจัดเป็นส่วนรับประทานอาหารแบบเอ๊าต์ดอร์ ส่วนชั้นล่างของเรือนใหญ่แม้จะเน้นให้มีความเรียบโล่ง แต่ก็มีผนังกั้นเพื่อความเป็นสัดส่วนมากกว่าชั้นบน หลักๆ ออกแบบเป็นผนังบานเลื่อนกระจกใสขนาดใหญ่เต็มผนัง ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่นที่ออกแบบเป็นเตียงขนาดใหญ่ ใกล้กันเป็นห้องรับประทานอาหารกึ่งทางการ และส่วนที่อยู่ในสุดเป็นแพนทรี่แบบทันสมัย เรือนหลังที่สองเป็นเรือนชั้นเดียว […]
ปริ่มสุขในพื้นที่จำกัด
บ้านที่ดีควรเป็นบ้านที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ บ้านหลังนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบให้สัมพันธ์กับอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย เบื้องหลังประตูตะแกรงเหล็กสีดำคือบ้านสไตล์โมเดิร์นของ คุณเอ – จิรสีห์ และ คุณสุพินดา เตชาชาญ ซึ่งสร้างบ้านเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้บ้านดูใหญ่และโอ่โถง ทั้งที่ขนาดที่ดินไม่ได้ใหญ่มาก เมื่อก้าวเข้าไปภายในบ้านเราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบ้าน พร้อมกับสายลมอ่อนๆ ที่พัดเข้ามาตลอดเวลา “เดิมทีที่ดินตรงนี้เป็นสนามหญ้าของบ้านคุณแม่คุณเอ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 65 ตารางวา และคุณเอต้องการใช้เป็นเรือนหอครับ” คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน และยังเป็นเพื่อนสนิทของคุณเอด้วย เกริ่นนำให้เราฟัง “โจทย์แรกที่ผมได้รับก็คือคุณเอเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่อับๆอยากได้บ้านที่โปร่งโล่ง และต้องการพักผ่อนสบายๆ ในบ้านที่ให้อารมณ์กึ่งๆรีสอร์ต เพราะเป็นคนชอบอยู่บ้าน และต้องมีมุมสำหรับปาร์ตี้สังสรรค์กันทุกเดือน” คุณรักศักดิ์เท้าความถึงวันแรกๆ ของการพูดคุยกับคุณเอ นับจากวันนั้นเขาและทีมงานก็กลับมาทำการบ้าน โดยพิจารณาจากความต้องการของเจ้าของบ้านและข้อจำกัดของพื้นที่ จนได้แนวคิดหลักในการออกแบบ “เรามองว่าจะต้องเป็นบ้านที่อยู่สบาย ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน ที่สำคัญรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด” ตัวอาคารใช้โครงสร้างเหล็กกรุกระจกใส ซึ่งตอบโจทย์ความชื่นชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังทำประตูเชื่อมระหว่างบ้านคุณเอกับบ้านคุณแม่ จุดเด่นที่น่าสนใจของบ้านนี้คือโครงสร้างเหล็กและประตูบานสูงชะลูดบริเวณทางเข้าบ้าน ซึ่งเปิดได้ทั้งหมด 4 ช่องทาง ทำให้เกิดทางระบายอากาศภายในบ้านระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ หลายท่านอาจสงสัยว่าการเลือกใช้กระจกจะเหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราจริงหรือ คุณรักศักดิ์ให้คำตอบว่า “หากเลือกวางตำแหน่งบ้านในทิศทางที่ถูกต้อง เน้นการรับแสงธรรมชาติเลี่ยงแดดจัด ก็จะทำให้บ้านที่ใช้กระจกได้สัมผัสกับความร่มรื่น ผมและทีมงานจะคำนวณด้วยโปรแกรมทุกครั้งก่อนออกแบบ เพื่อหาทิศทางของกระแสลมที่พัดในแต่ละช่วงเวลาตลอดทั้งปี […]
Co-housing Space บ้านที่แชร์พื้นที่ร่วมกันกับธรรมชาติ
ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา เรากำลังมุ่งหน้าไปทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อุณหภูมิในรถเช่าไม่เย็นพอที่จะลดความอบอ้าวของสภาพอากาศด้านนอก หรืออาจเป็นใจของเราเองก็ได้ที่ร้อนขึ้นจากสภาพการจราจรเบื้องหน้า หนึ่งชั่วโมงครึ่งผ่านไปกับระยะทางไม่ไกลนักจากย่านกลางเมือง เราเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ผ่านประตูโครงการที่เหมือนประตูบ้านหลังใหญ่มากกว่าเป็นโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งเปิดให้เห็นต้นไม้ใหญ่ ดูคล้ายเป็นหมู่บ้านโมเดิร์นกลางป่า และช่วยเปลี่ยนความรู้สึกร้อนในใจให้เย็นลงได้แบบฉับพลัน “Tanah Teduh” เป็นโครงการบ้านจัดสรรที่ทำให้เรานึกถึงบ้านแบบ Co-housing Space หรือกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่ทุกบ้านรู้จักกัน มีพื้นที่หน้าบ้านหรือหลังบ้านร่วมกัน แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ได้ด้วยการออกแบบที่ดี บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ซึ่งเดิมเป็นสวนผลไม้ เจ้าของโครงการพยายามเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีสร้างบ้านหลบต้นไม้ อาคารทุกหลังเน้นการออกแบบเปิดรับแสงธรรมชาติ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รู้สึกใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมสีเขียวให้มากที่สุด แนวคิดดังกล่าวทำให้บ้าน 20 หลังในโครงการนี้มีพื้นที่ที่เปิดรับธรรมชาติและดูเป็นสัดส่วน แม้จะไม่มีรั้วกั้นบ้านแต่ละหลัง แต่ต้นไม้และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็ช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวได้ไม่ยาก โครงการนี้ออกแบบโดย 10 สถาปนิกระดับแนวหน้าของอินโดนีเซีย บ้านแต่ละหลังมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ราวกับเป็นลายเซ็นที่สถาปนิกกำกับไว้ผ่านรายละเอียดงานออกแบบที่ปรากฏ เราตั้งใจมาเยือนบ้านหลังหนึ่งที่ Mr. Andra Martin สถาปนิกผู้เป็นไดเร็กเตอร์ของโครงการนี้ออกแบบเอาไว้ แต่ต้องพบกับความผิดหวังเล็กน้อย เพราะเจ้าของยังไม่ได้มาอยู่บ้านหลังดังกล่าวจริงๆ ทว่า the show must go on เราเริ่มต้นถ่ายบ้าน แต่เหมือนฟ้าลิขิต น้องในทีมรีบวิ่งมาบอกเราอย่างตื่นเต้นว่า “พี่ๆ บ้านด้านหลังนี้เจ้าของบ้านเป็นคนไทยและสวยมาก” แน่นอนว่าใจของเราพุ่งไปถึงบ้านหลังนั้นก่อนขาจะก้าวไปทันเสียอีก […]
บ้านปูนสีขาวผสมไม้ ในบรรยากาศริมคลอง
อยากให้เหมือนบ้านไทยสมัยก่อนที่ปลูกติดริมน้ำ มีการลดหลั่นของอาคารและเปิดมุมมองสู่ริมน้ำ มีความเคารพต่อธรรมชาติ แต่อยู่ในรูปแบบที่ดูทันสมัย ทั้งวัสดุ รูปลักษณ์ และจริตอย่างปัจจุบัน