ประหยัดพลังงาน
เรือนหมู่อยู่เย็น ไทยโมเดิร์นอยู่สบาย บรรยากาศกลางไร่และภูเขา
บ้านไทยโมเดิร์นที่เชื่อมทุกส่วนด้วยทางลาดรองรับผู้สูงอายุ อยู่สบายและประหยัดพลังงาน ทำหลังคาโปร่งแสงทั้งหลังเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ เมื่อแรงบันดาลใจและความฝันได้นำพาคุณหมอผู้หลงรักภูเขา การเดินป่า และกลิ่นหอมดินหลังฝนตก มาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในดินแดนแห่งขุนเขา จึงได้ซื้อที่ดินในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้าง บ้านไทย โมเดิร์นยกพื้นสูงมีใต้ถุน ให้กลมกลืนกับวิถีชีวิต บริบท และธรรมชาติที่มีฉากหลังเป็นวิวภูเขา โดยเชื่อมแต่ละเรือนด้วยชานโล่งซึ่งทำหน้าที่เป็นทางลาดขนาดใหญ่ เชื่อมการใช้งานตั้งแต่พื้นดินจนถึงห้องนอนโดยไม่มีบันได ด้วยวางแผนให้เป็นบ้านที่จะสร้างครอบครัวและรองรับวัยเกษียณในอนาคต บ้านใหม่ที่บ้านเกิด เมื่อจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านสำหรับครอบครัวได้รวมการมีวิวสวยๆ และอยู่กับธรรมชาติไว้ด้วย บ้านของสองคุณหมอ คุณต้อม-วงศกร เจริญไทย คุณมิ้นท์-อภิรดา ถนอมวงศ์ทัย และ น้องต้นไม้ – เด็กชายธราดล เจริญไทย จึงมีผืนดิน ต้นไม้ สายลม แสงแดด และทิวเขารวมอยู่ด้วย ผ่านมุมมองและการออกแบบจาก คุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ และคุณแตน-วรัญญู มกราภิรมย์ สถาปนิกแห่ง TA-CHA Design คุณต้อมเล่าย้อนกลับไปว่า “ผมชอบธรรมชาติ ชอบเดินป่าและทำกิจกรรมกลางแจ้ง เลยอยากได้บ้านที่มีพื้นที่เปิดโล่ง มีต้นไม้ เห็นวิวสวยๆ ผมเป็นคนเชียงใหม่ ส่วนภรรยาเป็นคนหล่มสัก ด้วยเรามีแนวคิดคล้ายกัน เมื่อ 6 ปีก่อนจึงมาหาที่ดินสำหรับสร้างบ้าน […]
บ้านน่าอยู่ โอบล้อมด้วยขุนเขา
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณปวริศร์ – คุณสุรีย์ สุทธิสาร บ้านน่าอยู่ ไม่แปลกที่ธรรมชาติแห่งขุนเขาและกลิ่นหอมของดอกไม้ป่า รวมถึงสายลมอันบริสุทธิ์สดชื่นรอบๆเขาใหญ่จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญของการบอกลาชีวิตในกรุงเทพฯ แต่เหนืออื่นใดก็คงเป็นเพราะ คุณแนน – สุรีย์ สุทธิสาร ภรรยาคนสวยเป็นคนพื้นถิ่นแถวนี้ ทำให้ คุณปั๊บ – ปวริศร์ สุทธิสาร ตัดสินใจมาสร้างครอบครัวและบ้านพักอาศัยหลังใหม่อยู่ที่เขาใหญ่เป็นการถาวร ระยะเวลาร่วม 8 ปีของการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติสวยๆ เหล่านี้ ยังทำให้คุณปั๊บเกิดแนวคิดที่จะแบ่งปันความสุขด้วยการสร้างโครงการบ้าน 1.618 ขึ้นบนพื้นที่กว่า 42 ไร่ ที่ระดับความสูงประมาณ 430 เมตร ซึ่งมีขุนเขาสูงโอบล้อมรอบทิศทาง แถมด้วยช่องลมธรรมชาติที่รับลมได้ตลอดทั้งปี สำหรับแนวคิดการออกแบบมีจุดเริ่มต้นจากอัตราส่วน 1.618 ที่เลโอนาร์โด ฟีโบนัชชี นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีคิดค้นขึ้นจากสัดส่วนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และกลายเป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์ให้วงการศิลปะและสถาปัตยกรรมนำไปประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดโมนาลิซา วิหารพาร์เธนอน หรือโลโก้ของแบรนด์ Apple กระทั่งมาเป็นอัตราส่วนในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ให้ลงตัวและงดงาม “ผมอยากสร้างบ้านที่เข้ากับสภาพแวดล้อมของเขาใหญ่ให้มากที่สุด ไม่ใช่เอาบ้านจากประเทศไหนๆมาตั้งอยู่ที่เขาใหญ่เฉยๆ เพราะด้วยสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกมาก ผมจึงให้ความสำคัญกับหลังคาเป็นอันดับแรก […]
บ้านชั้นเดียว เปลือยผิวด้วยอิฐโชว์แนว
บ้านชั้นเดียว ที่เด่นด้วยผนังอิฐโชว์แนวสีน้ำตาลแดงในแพตเทิร์นใหม่ๆ ดูแปลกตาตัดกับปูนเปลือยขัดมันทาบทับในแนวเฉียงแทรกด้วยงานไม้ไผ่ในแนวตั้ง
The Neverland of Andra Matin ระหว่างพื้นที่กับการเดินทาง
เมื่อเดินผ่านประตูรั้วด้านหน้าบ้านเข้าไปเราจะพบทางเดินไม้ลอยอยู่เหนือสระน้ำ ขนาบด้วยกำแพงดินที่มีมอสส์และเฟินแทรกอยู่เป็นระยะ ร่องไม้ที่ชั้นบนเว้นที่ว่างให้แสงสว่างลอดผ่านลงมาสะท้อนกับผืนน้ำดูระยิบระยับไปทั่วบริเวณ ปลาคาร์พตัวเขื่องว่ายน้ำลอดจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่ง แดดจัดจ้าของประเทศอินโดนีเซียช่วยเติมเต็มความสดใสให้บ้านหลังนี้ได้อย่างเหลือเฟือ Mr. Andra Matinเจ้าของและผู้ออกแบบบ้าน AM House หลังนี้ยิ้มต้อนรับและผายมือเชิญเราเข้าสู่ภายในบ้าน เขาพาเราเดินขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านซึ่งจัดวางโต๊ะยาวขนาด 4 – 5 เมตร เพื่อใช้รับแขก จากตรงนี้เรามองเห็นอาคารคอนกรีตสมัยใหม่ที่เปิดโล่งและมีพื้นที่อเนกประสงค์คล้ายบ้านใต้ถุนสูงอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร แล้วบทสนทนาระหว่างเรากับคุณอันดราก็เริ่มขึ้น “ผมเริ่มก่อสร้างบ้านหลังนี้ในปีค.ศ. 2008 เริ่มจากโครงสร้างหลักคือกล่องปูนเปลือยยกสูงอย่างที่เห็นเมื่อบ้านค่อยๆก่อร่างขึ้นก็ทำให้ผมเห็นรายละเอียดที่ควรใส่เพิ่มลงไปจึงใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าบ้านทั่วไปแต่การค่อยๆคิดและถักทอพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่ลงตัวกับผมและครอบครัวอย่างแท้จริงบ้านหลังนี้เสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2013 ใช้เวลารวม 5 ปีพอดี” คุณอันดราเป็นเจ้าของสำนักงานออกแบบ Andramatin และถือเป็นสถาปนิกรุ่นบุกเบิกที่เปิดรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างอิสระในประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เขาใส่ใจที่สุดก็คืองานออกแบบที่สอดรับกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศนี้ บริษัทของเขาจึงเป็นผู้นำด้านงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล ดังจะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้แทบไม่ใช้เครื่องปรับอากาศเลย มีเพียงสองจุดเท่านั้นคือห้องน้ำที่ชั้นใต้ดินซึ่งต้องใช้เครื่องกำจัดความชื้นและในห้องนอนชั้นบน นอกเหนือจากนั้นล้วนพึ่งพาพลังจากธรรมชาติทั้งสิ้น และอีกเรื่องหนึ่งที่คุณอันดราสนใจก็คือการออกแบบพื้นที่ “ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่มากกว่ารูปทรง” คุณอันดราอธิบายหลักการออกแบบพื้นที่ซึ่งใช้กับทุกงานออกแบบของเขาแม้แต่กับบ้านหลังนี้ “ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ (Spatial Relationship) ต้องมองไปถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมากกว่าการมองแบบเป็นห้องสี่เหลี่ยม เพราะในความเป็นจริงกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะนั่งนอนเดินหรือยืนต่างก็มีพื้นที่ ‘ระหว่างกัน’ทั้งสิ้นเมื่อคิดได้ดังนี้รูปทรงก็จะออกมาต่างอย่างที่ควรจะเป็นสามารถออกแบบร่วมกับเรื่องภูมิอากาศและการอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม” คำอธิบายข้างต้นพอทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมบ้านหลังนี้จึงมีรูปทรงแปลกตาและชวนให้แปลกใจทุกครั้งที่ก้าวผ่านจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง “ผมชอบการเดินทางบ้านของผมก็เลยให้ความรู้สึกของการเดินทาง” การเปลี่ยนผ่านแต่ละพื้นที่ของบ้าน AM House เปรียบได้กับการผจญภัยย่อมๆ ทั้งทางเข้าที่เดินทะลุขึ้นมายังเนินดินก่อนเข้าสู่พื้นที่รับแขกที่ลัดขึ้นบันไดเวียนสู่สวนดาดฟ้าได้ หากเดินจากพื้นลาดอีกด้านหนึ่งก็จะแยกออกไปยังเรือนเล็กของคุณอันดรา แล้ววนกลับเข้ามาที่ห้องของลูกๆ ห้องทำงานชั้นล่างยังมีประตูซ่อนอยู่หลังชั้นหนังสือเพื่อออกไปยังห้องละหมาดและห้องน้ำได้อีกด้วย […]
จัดสวนรักษ์โลกง่ายๆให้ยั่งยืน (1)
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าสภาพอากาศจะวิปริตผิดธรรมชาติไปกันหมด ฝนที่เคยตกตามฤดูกาลก็มาเป็นช่วงๆ อากาศที่ว่าร้อนก็กลับร้อนขึ้นจนอยู่กลางแจ้งแทบไม่ได้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวการของปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ทางบ้านและสวนจึงขอหยิบยกรูปแบบการ จัดสวนรักษ์โลก และยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่นิยมไปทั่วโลก มาแนะนำกัน นอกจากเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว การดูแลรักษาก็ยังง่ายกว่าสวนรูปแบบอื่นด้วยครับ เข้าใจพื้นที่ก่อนจัดสวน อันที่จริงการจัดสวนโดยทั่วไปก็ควรตรวจสอบและทำความเข้าใจสภาพพื้นที่ให้ดีก่อนการออกแบบพื้นดินเป็นปัจจัยแรกที่ควรคำนึง เพราะทั้งพรรณไม้และงานฮาร์ดสเคปก็ล้วนต้องปลูกต้องสร้างอยู่เหนือหรือฝังไปกับพื้นดินแทบทั้งสิ้น ในแต่ละพื้นที่จะมีคุณสมบัติหรือลักษณะของพื้นดินแตกต่างกันไป หากเป็นไปได้ควรเก็บรักษาลักษณะของพื้นดินเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผิวหน้าดิน ความชันเดิม หรือแม้แต่ก้อนหินในพื้นที่นอกจากเป็นการรักษาหน้าดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศเดิมเอาไว้ด้วย ทั้งยังลดปัญหาที่จะเกิดตามมาจากพื้นที่โดยรอบ และลดค่าใช้จ่ายในการจัดสวนลงได้ บางกรณีคุณสมบัติเดิมของพื้นที่ยังกลายเป็นโจทย์ให้เกิดแนวคิดในการออกแบบที่ดีได้อีกด้วย สวยด้วยต้นไม้พื้นถิ่น การจัดสวนตามกระแสในปัจจุบันมักเลือกตัดต้นไม้เดิมในพื้นที่แล้วไปหาซื้อต้นไม้ใหม่ที่มีขายตามท้องตลาดมาปลูก คงเป็นการดีกว่าหากจะเลือกประยุกต์ต้นไม้เดิมให้เข้ากับงานจัดสวนของเรา เพราะต้นไม้ในพื้นที่โดยเฉพาะไม้ยืนต้นมีระบบรากยึดเกาะกับพื้นดินได้ดีกว่าต้นไม้ที่ขุดล้อมมาปลูก รวมถึงนำไม้พื้นถิ่นที่พบเห็นได้รอบพื้นที่บริเวณนั้นมาใช้ประดับสวนนอกจากไม่ต้องซื้อต้นไม้ใหม่แล้ว การดูแลรักษาพืชพรรณเหล่านี้ยังง่ายกว่ามาก อย่าลืมเก็บน้ำไว้ใช้ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดสวนหรือปลูกต้นไม้ แม้ว่าปัจจุบันเราอาจใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักมีค่าความเป็นกรดสูง จึงไม่เหมาะกับต้นไม้บางชนิดผิดกับน้ำในธรรมชาติ หากมีพื้นที่ที่สามารถทำบ่อน้ำธรรมชาติได้ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะดึงน้ำในบ่อมารดน้ำต้นไม้ได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย ทำให้สวนดูสวยงามยิ่งขึ้นด้วย และหากขุดเป็นบ่อน้ำดินแล้ว เรายังใช้ดินเลนที่อยู่ใต้น้ำมาใส่ต้นไม้ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินได้ รอบๆบ่อก็ปลูกไม้น้ำสร้างความหลากหลายให้พืชพรรณในสวน ทั้งนี้จุดที่จะขุดบ่อควรอยู่ในบริเวณที่ต่ำสุดของที่ดินเพื่อสามารถรับน้ำฝนที่ไหลไปบนหน้าดินลงสู่บ่อได้เต็มที่ เลือกพลังงานทดแทน แน่นอนว่าการจัดการสวนหรือสร้างความสวยงามภายในสวนจำเป็นต้องใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำต้นไม้ ใช้เครื่องตัดหญ้า น้ำพุ หรือน้ำตก แม้แต่แสงสว่างในยามค่ำคืน เราสามารถเปลี่ยนการใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้าภายในบ้านมาเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้แล้วไม่หมดไปอย่างพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์เชื่อมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในสวน […]